บทวิเคราะห์ : ความน่ากลัวของ "พรรคเศรษฐกิจไทย"

การเมือง
4 ก.พ. 65
12:48
857
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ความน่ากลัวของ "พรรคเศรษฐกิจไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นไปตามไทม์ไลน์ ที่มีเปิดล่วงหน้าก่อนหน้านี้แทบจะครบถ้วน สำหรับทิศทาง ส.ส.21 คน ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพปชร. ที่ยังเป็นปมค้างคาใจแฟนการเมืองพันธุ์แท้

ถูกขับออกจริง หรือขอให้ขับออก หรือเป็นเพียงพิธีการเพื่อให้เป็นตามข้อบังคับและกฎหมายแบบเป๊ะๆ ป้องกันการถูกตีความหรือเป็นเรื่องเป็นราว หากมีการร้องหรือให้ตรวจสอบเรื่องนี้

ตั้งแต่การย้ายเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย พรรคที่ตั้งรอมาตั้งแต่ปี 2563

ตามด้วยคิวลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ของ "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รอคิวขึ้นนั่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยคนใหม่ (ตัวจริง)

"บิ๊กน้อย" เป็นนายทหาร ตท.11 และจปร.22 (รุ่นเดียวกับเสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) เป็นนายทหารอีกคนที่ใกล้ชิด "บิ๊กป้อม" เคยเป็นกรรมการ ศอฉ. ช่วงการชุมนุมของนปช. ปี 53 และเคยเป็นคู่ชิงตำแหน่งผบ.ทบ.กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีบทบาทในราชตฤณมัยสมาคมมานาน กระทั่งเป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ คนสุดท้าย จึงมีคอนเนคชั่นกับผู้คนหลากหลายวงการ เพราะสนามม้าได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์มาแต่ไหนแต่ไร

เมื่อพล.อ.วิชญ์มาแล้วตามไทม์ไลน์ จากนี้ไปคือ รอคอยการขยับขับเคลื่อนตามข่าวที่ปูดไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพรรคศท.

ทั้งเรื่องพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และน้องชายแท้ๆ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเข้าไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาพรรค

และสุดท้ายนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ จะย้ายเข้าตามมาเพื่อนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นการเติมเต็มจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย

ว่ากันว่า นี่เป็นสูตรสำเร็จรูป ที่ถูกออกแบบเอาไว้ก่อนหน้านี้ อยู่ที่ว่า นายอภิชัยจะเข้ามาตั้งแต่ช่วงนี้ หรือจะรอเลือกตั้งครั้งหน้า

ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากนายอภิชัยเป็นโต้โผใหญ่ ของการก่อตั้งพรรคเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่ความคาดหวังจะได้เป็นรัฐมนตรีโควต้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ"ผู้เอื้อเฟื้อ-ใจถึง"เมื่อครบครึ่งเทอม ส่อเค้าไม่เป็นจริง นายอภิชัยจึงลาออกเหรัญญิกพรรค และไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับค่ายแม่ธรณีบีบมวยผมมาตั้งแต่นั้น

ก่อนสร้างความฮือฮาโดยเป็น 1 ใน 3 ส.ส.ของพรรคที่ลงมติงดออกเสียงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อต้นปี 64

แม้ในรายชื่อผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารพรรคชุดแรก จะไม่มีชื่อนายอภิชัย แต่หัวหน้าพรรคคนแรก นายประสงค์ วรารัตนกุล และรองหัวหน้าพรรค นางรัชนี ศิวเวชช(ต่อมาเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค) ล้วนมีรายชื่อเป็นกรรมการในบริษัทเจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ที่มีนายอภิชัยเป็นประธานกรรมการบริหาร

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากข่าวบางสำนักจะรายงานว่า วันที่ร.อ.ธรรมมนัสและส.ส.ในกลุ่มไปพบพ.อ.ประวิตร ที่มีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อให้พรรคประชุมขับไล่ออกจากพรรค จะมีคนเห็นนายอภิชัยที่มูลนิธิฯ ด้วย แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับหรือปฏิเสธจากเจ้าตัวว่าจริงหรือไม่

ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือฐานะทางเศรษฐกิจนายอภิชัย เมื่อแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ตอนเข้ารับตำแหน่งส.ส.ปี 62 แจ้งมีทรัพย์สิน 3.5 พันล้านบาท มีหนี้สิน 1.5 พันล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อต้นปี 65 พบว่า เขาเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 28 แห่ง ยังทำกิจการอยู่ 21 แห่ง ทั้ง อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม กิจกรรมการเงินและประกันภัย ขายส่ง-ขายปลีก ร้านอาหาร รวมทุนจดทะเบียนหลายพันล้านบาท

คนที่มีฐานะร่ำรวยขนาดนี้ หากจับมือคนมากบารมีและเปี่ยมคอนเนคชั่น ทุกวงการอย่าง พล.อ.วิชญ์ และ "ผู้กองธรรมมนัส" ผู้กว้างขวางใจถึงพึ่งได้ในแวดวงการเมืองหลากหลายกลุ่มก๊ก ทั้งยังเป็นเจ้าของสวนกล้วยขนาดใหญ่ แจกจ่ายอย่างไรไม่มีหมด

พรรคเศรษฐกิจไทย จะน่ากลัว และมีอำนาจต่อรองขนาดไหน? คิดดู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง