ทส.สั่งสอบปม “ถ้ำนาคา” นักท่องเที่ยวล้นลงเขาไม่ทัน

สิ่งแวดล้อม
6 ก.พ. 65
19:50
1,207
Logo Thai PBS
ทส.สั่งสอบปม “ถ้ำนาคา” นักท่องเที่ยวล้นลงเขาไม่ทัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“วราวุธ” สั่งสอบปมปล่อยนำท่องเที่ยวทะลัก “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา จนตกค้างบนเขาลงไม่ทันตามเวลา ขู่ปรับเปลี่ยนคน หากบุคลากรไม่ได้ประสิทธิภาพ พบข้อมูลหน่วยงาน-วีไอพีขอเข้าพื้นที่เพียบ

วันนี้ (6 ก.พ.2565) นักท่องเที่ยวจำนวนมากยังทยอยเข้าแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน และหลักฐานการจองเข้าถ้ำนาคาผ่านแอปพลิเคชันคิวคิว ( QueQ) ต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ฝั่ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เพื่อเข้าไปเที่ยวชมในอุทยานฯ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์จะเข้าชมถ้ำนาคา หรือ ไม่ได้จองคิวล่วงหน้า แต่ต้องการขึ้นไปชมความสวยงามของธรรมชาติเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ขึ้นเช่นกัน


ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ติดค้างบนอุทยานแห่งชาติภูลังกาเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปชมถ้ำนาคา และขึ้นไปชมธรรมชาติบนยอดเขาภูลังกา มากกว่า 1,000 คน แต่ทางขึ้น-ลงเดียวกัน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากติดค้างบนยอดภูหลายชั่วโมง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้าย ที่เดินทางลงมาถึงจุดบริการท่องเที่ยวเมื่อเวลา 01.00 น.


ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลว่า ในแต่ละสัปดาห์จะมีหน่วยงานส่วนราชการต่าง ๆ ที่ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากกรมอุทยานฯ เพื่อขอขึ้นถ้ำนาคามากกว่า 10 หน่วยงาน ส่วนมากจะเป็นหน่วยงานราชการ จ.บึงกาฬ จ.นครพนม และพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงคณะ VIP และแขกผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 500 - 700 คนต่อสัปดาห์ ทั้งที่มีมาตรการกำหนดคนขึ้นไปชมถ้ำเพียงวันละ 500 คนเท่านั้น

ไทยพีบีเอสพยายามติดต่อสัมภาษณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวทั้ง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา หรือ ไกค์นำเที่ยว แต่ก็ถูกปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"วราวุธ" ขู่เปลี่ยนคน หากบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพ

ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากลงมาช้ากว่ากำหนดจนเกิดความแออัดช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากการขึ้นไปชมถ้ำนาคาบนภูลังกา เมื่อช่วงค่ำของวานนี้ (5 ก.พ.) ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งดำเนินการร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และทาง จ.บึงกาฬ ช่วยกันระบายนักท่องเที่ยวให้ทยอยเดินทางลงจากข้างบน

ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้รายงานข้อเท็จจริงกลับมาเป็นไปตามข่าวที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1,000 คนตกค้างอยู่จนถึงเวลา 21.00 น.จริงหรือไม่

ภาพ : อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม - Phulangka National Park Thailand

ภาพ : อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม - Phulangka National Park Thailand

ภาพ : อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม - Phulangka National Park Thailand


นายวราวุธ ระบุอีกว่า เร็ว ๆ นี้ จะลงพื้นที่ถ้ำนาคาอีกครั้งเพื่อติดตามปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากการท่องเที่ยว หากพบมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขหรือกติกาของอุทยานแห่งชาติจะเร่งแก้ไข โดยเฉพาะหากบุคลากรมีไม่เพียงพอจะเพิ่มอัตรากำลัง หรือหากบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน

จำกัด 500 คนต่อวันลงทะเบียนล่วงหน้า

สำหรับถ้ำนาคา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีน และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นไปชมถ้ำนาคาที่หินลักษณะคล้านเกล็ดพญานาค ทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมีการจัดระเบียบโดยจำนวนนักท่องเที่ยวต้องลงทะเบียนผ่านระบบ หลังจากมีการเปิดท่องเที่ยว เนื่องจากพบมีหินลักษณะพญานาค ทำให้เกิดกระแสศรัทธา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมากขึ้น

อุทยานฯ ได้กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นไปถ้ำนาคา ต้องลงทะเบียนจองคิว 60 วันล่วงหน้า และจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 500 คนต่อวัน มีการโชว์ผลตรวจ ATK ไม่เกิน 72 คน และโชว์การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

16 ข้อห้ามเข้าเที่ยวถ้ำนาคา-หลังคนแห่เที่ยว

ขณะที่ ได้โพสต์ข้อห้าม 16 ข้อปฏิบัติในการเข้าชม "ถ้ำนาคา" ดังนี้

• ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมในถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อย เสาหิน ฯลฯ
• ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ
• ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ
• ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใดๆ
• ห้ามทำเสียงดังหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์ รวมทั้งห้ามยิงปืน จุดประทัด และวัตถุระเบิด
• ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ
• ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือพ่นสี หรือปิดประกาศ
• ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ
• ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใดๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผนึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ
• ห้ามกระทำการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
• ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
• ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด
• ไม่แตะต้อง และหรือ ทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ
• ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดี หรือซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ
• ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัยเท่าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติในถ้ำ
• ให้มีผู้นำเที่ยวท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง