วิกฤต! งบอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ถูกลด 60%

สิ่งแวดล้อม
9 ก.พ. 65
12:04
1,063
Logo Thai PBS
วิกฤต! งบอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ถูกลด 60%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มูลนิธิสืบฯ จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาวิกฤตงบฯ ดูแลสัตว์ป่า พบในช่วง 4 ปี งบดำเนินการและงบลงทุนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า หายไป 241 ล้านบาท หนักสุดค่าอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ 23 แห่ง ลดกว่า 60% เหลือปีละ 3-4 แสนต่อแห่ง

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยผ่านรายการ "SEUB TALK" เกี่ยวกับวิกฤตปัญหาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ถูกตัดลดงบประมาณ ว่า เมื่อย้อนดูข้อมูลจะพบว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกตัดลดงบฯ ปีละหลายร้อยล้านบาทมาโดยตลอด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 แม้งบฯ จะดูเหมือนลดลงไม่มาก โดยปี 2562 อยู่ที่ 11,858 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ 9,971 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม งบฯ ที่ไม่ได้ถูกตัดลด คือ เงินเดือนของข้าราชการ และงบฯ ลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่ถูกตัดลดเพียงเล็กน้อย แต่ในส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ งบดำเนินการและงบลงทุนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

นายศศิน กล่าวว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มีภารกิจดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมทั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่ขณะนี้สถานการณ์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เข้าขั้นวิกฤต "แทบไม่มีการซื้ออาหารให้เสือกิน" ไม่มีเงินซื้ออาหารให้ลิงเป็นร้อย ๆ ตัว กวาง และสัตว์กีบที่เพาะพันธุ์เพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ

ภาพรวมของกระทรวง หรือกรมอุทยานฯ ไม่กระเทือน แต่ในส่วนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ได้งบฯ 10-20% ของกรม งบฯ ปี 62 ได้ 700 กว่าล้านบาท แต่ปี 65 ลดลงมา 241 ล้านบาท

 

ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังเล่าว่า งบฯ ที่ลดลง กระทบงานดูแลสัตว์ป่า ยกตัวอย่างเคสช้างป่าเกเรที่จะย้ายไปไว้ในศูนย์กักกัน สำนักฯ ได้ของบฯ ซื้อรถที่มีมาตรฐานในการเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การยิงยาสลบและเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุก ขณะนี้ก็เพิ่งได้รับอนุมัติและยังไม่ได้รถคันดังกล่าวจริง

นอกจากนี้ ยังถูกลดงบฯ ลงทุน ก่อสร้างเพนียด รั้วกันช้าง ขุดคูกันช้าง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสัตว์ป่า ก็ได้รับผลกระทบ

 

ที่สำคัญ งบฯ ค่าอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ถูกตัดลด 60% ซึ่งสถานีฯ มีหน้าที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น ไก่ป่า ละอง ละมั่ง เนื้อทราย แร้ง, เลี้ยงดูสัตว์ของกลางไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ต้องกินอาหาร รักษาโรค ดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการให้อยู่ในมาตรฐาน รวมถึงดูแลสัตว์จากต่างประเทศที่ถูกปล่อย และสัตว์ป่าพิการ ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้

 

นอกจากนี้ ยังมีคลินิกสัตว์ป่า 3 แห่ง ทำหน้าที่ตรวจโรคในสัตว์ที่ถูกนำมาปล่อย หรือการติดเชื้อโรคในสัตว์ป่า รวมทั้งการกักกันโรคจากสัตว์ป่ามาสู่คน

เมื่อกางตัวเลขงบประมาณค่าใช้สอยของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 สถานี พบว่าปี 2562 อยู่ที่ 29.9 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 17.8 ล้านบาท, ปี 2564 อยู่ที่ 16.2 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 10.6 ล้านบาท หรือลดลง 3 เท่า จากปี 2562 ทำให้แต่ละสถานีฯ ที่เคยได้รับงบฯ ปีละล้านกว่าบาท จะเหลือเพียง 300,000-400,000 บาท

แต่ละสถานีมีสัตว์นับพันตัว คดียังไม่สิ้นสุด บางตัวพฤติกรรมไม่เหมาะสมปล่อยสู่ธรรมชาติ

นายศศิน กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ว่า อยู่ระหว่างประสานขอขยะอาหาร หรือ Food Waste รวมถึงผลไม้ที่หมดอายุแล้วจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ เพื่อช่วยเหลือในระยะสั้น รวมทั้งขอระดมทุนค่าขนส่งไปยังสถานีฯ ระยะกลางอาจพัฒนากองทุนฯ ระดมเงินช่วยเหลือให้ผ่านพ้นปี 2565-2566 ไปก่อน

ส่วนในระยะยาว ต้องหารือว่าจะทำอย่างไรให้งบฯ เพียงปีละ 30 ล้านบาท ไม่ถูกตัดลดอีก ซึ่งนายศศิน ยืนยันว่า รัฐบาลและผู้บริหารประเทศ ควรรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และต้องใช้ในส่วนงบฯ ปกติ เพราะการดูแลสัตว์ป่า เป็นเรื่องการอนุรักษ์ หลักศีลธรรม และการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง