บทวิเคราะห์ : การเมือง 2 หน้า

การเมือง
8 ก.พ. 65
15:38
236
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : การเมือง 2 หน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหม่ สำหรับการเมืองประเทศไทย เรื่องเล่นการเมือง 2 หน้า ซึ่งความหมายก็ชัดเจนในทีอยู่แล้วว่า คนเล่นไม่ได้ทุ่มหมดหน้าตักในแนวทางเดียว แต่มี "แทงกั๊ก" กันเหนียวเผื่อเหลือเผื่อขาด หรือในยามฉุกเฉิน

แต่ไหนแต่ไรมา นักการเมืองบ้านเรามักชอบใช้วิธีนี้ คือถึงจะไม่ได้ทางใดก็ต้องได้โดยอีกทางหนึ่ง ยิ่งในระดับแกนนำ หรือคนสำคัญที่มีอำนาจการตัดสินใจ มักจะไม่เล่นการเมืองทางเดียว เช่น การเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคการเมือง กรณีมีทางเลือกตั้งแต่ 2 ขั้วขึ้นไป ก็ต้องเปิดช่องเจรจากับทุกขั้ว ป้องกันตกหล่นหรือพลาดโอกาส

เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มทุนที่จะให้การสนับสนุนฝ่ายการเมือง มักจะไม่ "ฟันธง" เลือกหนุนพรรคเดียวหรือกลุ่มเดียว ต้องสร้างคอนเน็คชั่นกับกลุ่มอื่นไว้เป็นทางเลือก หรือแม้แต่นักการเมืองบางคนจะเข้าพรรคไหน ก็ต้องมีการเจรจาและการต่องรองทั้งสิ้น

สถานการณ์ตอนนี้ ก็มีหลายคนที่ใช้วิธี "แทงกั๊ก" เผื่อเลือกและเล่นบท 2 หน้า แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงท่าทีชัดเจน ว่าจะเดินหน้าบนเส้นทางการเมืองต่อ ก็มี "แทงกั๊ก" ทั้งเรื่องพรรคการเมืองที่จะให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯว่า จะยังคงเป็นพรรคพลังประชารัฐตามเดิม หรือจะเป็นพรรคใหม่ ซึ่งตอนนี้มีชื่อพรรครวมไทยช่วยชาติ โผล่ขึ้นมาเป็นตัวเลือกแบบพรรคสำรอง

หรือกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คู่เดือด พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคเศรษฐกิจไทย ก็สวมบทแทงกั๊กอีกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องจะยังสนับสนุนรัฐบาลต่อไป หรือเปลี่ยนจุดยืนไปอยู่ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงเป็นเสมือนช่วงรอยต่อสำคัญ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการเจรจาต่อรอง ก่อนจะตัดสินใจว่าท้ายที่สุด จะเลือกไปยืนบนจุดไหน

คนที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอีกคนในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังพลิกผันกลับไปกลับมาตลอดเวลา และในอดีตก่อนหน้านี้ ถือเป็น "ผู้มากบารมี" ตัวจริง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ และเป็นพี่คนโตแห่งกลุ่ม 3 ป.

ที่ผ่านมา ใครๆก็รู้ว่า พล.อ.ประวิตร หนุนหลังพล.อ.ประยุทธ์ น้องเล็กแห่ง 3 ป. กระทั่งผงาดขึ้นเป็นผบ.ทบ.นานถึง 4 ปี และดันต่อสุดตัวจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ บริหารขับเคลื่อนจนจะครบ 8 ปีอยู่รอมร่อ

เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ก็เป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง จากรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีกลาโหม คุมความมั่นคงทั้งกองทัพและตำรวจ

หลังการเลือกตั้งเดือนมี.ค.62 บทบาทและความรับผิดชอบของพล.อ.ประวิตร เริ่มลดลง ในครม.เหลือเพียงตำแหน่งรองนายกฯ ขาเริ่มลอย ไม่ได้คุมทั้งกองทัพและตำรวจ ได้ดูแลด้านสังคมเพียงไม่กี่เรื่อง เช่นน้ำ หนี้สินประชาชน

กระทั่งเมื่อได้โอกาสไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำหลักของรัฐบาล บทบาทและความสำคัญของพล.อ.ประวิตร จึงกลับมาอีกครั้ง ขาที่เคยลอยก็ได้แตะถึงพื้นช่วยค้ำยันได้ แม้สุขภาพอาจไม่เอื้ออำนวยนัก โดยมีลูกน้องคนสนิทผู้รู้ใจอย่างร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า คอยดูแล เทคแคร์ และชงทุกเรื่องทั้งเพื่อดำเนินการและให้ก้าวเดิน

อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ได้ก่อให้เกิดกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า นี่เป็นที่มาของความสัมพันธ์ที่ถดถอยลงในระหว่างพี่น้อง 3 ป. โดยเฉพาะกับ ป.ประยุทธ์ ถึงขณะนี้ แม้ทั้งคู่จะยืนยันเป็นพี่น้องรักกันจนตาย แต่ไม่มีใครรู้ว่า ลึกๆ แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

จวบจนกระทั่งเหตุการณ์ พปชร.ขับร.อ.ธรรมนัสและส.ส.รวม 20 คนออกจากพรรคอย่างมีปมปริศนาว่า ขับออกจริงหรือไม่ หรือแค่พิธีการเพื่อให้ชอบด้วยกฎหมาย ให้สามารถไปหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน ท่ามกลางคำสำทับเสียงหนักแน่น ทำนองเป็นคนดูแลเองทั้งพปชร.และเศรษฐกิจไทย ยิ่งทำให้ผู้คนจับตาว่า จังหวะก้าวเดินต่อไปจะเป็นอย่างไร

แต่เพราะประเด็นร้อน มีข้อต่อรองขอเก้าอี้มท.1 ให้'บิ๊กป้อม' กรณีถูกทาบร่วมรัฐบาล ที่อ้างว่าหลุดออกมาจากที่ประชุมพรรคเศรฐกิจไทยที่ภูเก็ต ทำให้ทั้ง 2_ฝ่ายต้องรีบออกโรงมาปฏิเสธทันควัน เพราะในทางกฎหมาย การให้บุคคลอื่นนอกพรรคมาบงการครอบงำ จะมีโทษถึงขั้นยุบพรรคทีเดียว

เกมการเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บทบาท และการตัดสินใจของตัวบุคคลระดับ'บิ๊กเนม' จึงยังคลุมเครือไม่ชัดเจน แบบ'แทงกั๊ก'และเล่นการเมือง 2 หน้าต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง