ใช้จ่าย "วาเลนไทน์-มาฆบูชา" ไม่คึกคัก คนมองเศรษฐกิจแย่-โควิดระบาด

เศรษฐกิจ
10 ก.พ. 65
17:29
394
Logo Thai PBS
ใช้จ่าย "วาเลนไทน์-มาฆบูชา" ไม่คึกคัก คนมองเศรษฐกิจแย่-โควิดระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ และวันมาฆบูชาไม่คึกคัก พบว่าประชาชนจะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากกระทบปัญหารายได้ วิตกต่อเศรษฐกิจ การเมือง และการแพร่ระบาดของโอมิครอน

วันนี้ (10 ก.พ.2565) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 ก.พ.2565 จากประชาชนทั่วประเทศ 1,245 คน ระหว่างวันที่ 2-8 ก.พ.2565 พบว่าส่วนใหญ่กว่า 51% มองว่าบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้คึกคักน้อยลงกว่าปีก่อน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น การแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง ความกังวลเรื่องความปลอดภัย และตกงาน

ประชาชน 83% เตรียมจะฉลองกับคู่รักในที่พักบ้านแทนการออกนอกบ้าน เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 1,176 บาท จึงประเมินว่ายอดเงินใช้จ่ายวาเลนไทน์ปีนี้มีมูลค่า 2,068 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีมูลค่า 2,560 ล้านบาท หรือลดลง 19.20% เป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 15 ปี

ขณะที่การสำรวจพบว่าน่ากังวลในภาคสังคม คือนักเรียนนักศึกษา ระบุจะมีการเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ โดยใช้สถานที่โรงแรม และม่านรูด ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นและคนเริ่มทำงาน ระบุการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในปัจจุบัน และมองว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น และกว่า 52% ระบุว่ายอมรับได้ หากภรรยาหรือสามีเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน

ขณะเดียวกัน ยังมองว่าปัญหาเด็กและเยาวชนรุนแรงมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องโสเภณีเด็ก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ติดยาเสพติด เด็กเร่ร่อน พ่อแม่ไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดู ขาดศีลธรรม การยกพวกตีกัน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ใส่ถุงยางอนามัย) การตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน การคลอดแล้วทิ้ง การล่วงละเมิดทางเพศของคนใกล้ชิด และล่อลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเข้ามาดูแล เพื่อไม่เป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงในอนาคต

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า การสำรวจการใช้จ่ายเงินในเทศกาลวันมาฆบูชา วันที่ 16 ก.พ.2565 พบว่ามีทิศทางเดียวกัน ประชาชนระบุจะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากกระทบปัญหารายได้ วิตกต่อเศรษฐกิจ การเมือง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ คาดเงินสะพัดลดลงเหลือ 1,900-2,000 ล้านบาท จากปีก่อน 2,321 ล้านบาท หรือมูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี

อย่างไรก็ตาม พบว่าการสำรวจใช้จ่ายตามเทศกาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน ซึ่งพบว่ากังวลต่อเรื่องราคาของแพง ห่วงการจ้างงาน และรายได้ในอนาคต ทำให้ระมัดระวังใช้จ่าย รวมกับสถานการณ์ล่าสุด เริ่มกังวลต่อจำนวนการแพร่ระบาดของโอมิครอนรายวันสูงขึ้นเกินวันละ 10,000 คน กังวลว่าจะทำให้รัฐใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มขึ้นอีกครั้ง อาจกระทบต่อกิจกรรมปกติ และชะงักการจ้างงาน แม้ว่าในปัจจุบัน อัตราว่างงานอยู่ที่ 2% ยังไม่ถือว่าน่าวิตก

ทั้งนี้ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น กระทบการจ้างงานและรายได้ในอนาคต อีกทั้งมองเรื่องการเข้ามาดูแลค่าครองชีพและราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนกระทบต่อการขนส่งปรับเพิ่ม 20% หากขนส่งเพิ่ม 10% จะมีผลต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1-2% ไม่กระทบต่อกรอบเงินเฟ้อ 1.5-2.5% แต่หากขนส่งเพิ่ม 20% ส่งผลต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 3-4% จะกระทบต่อเงินเฟ้อเกิน 3% ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะไม่กระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และการผ่อนชำระหนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

กทม.ป่วยโควิดเกิน 2,500 คน 2 วันติด - เปิด 10 เขตยอดสูงสุด

"กากัน มาลิค" อุปสมบทแล้ว ได้รับฉายา "อโสโก ภิกขุ" 

เก็บกู้บกพร่อง! น้ำมันรั่วรอบ 2 เหตุตกค้างท่ออ่อน 5,000 ลิตร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง