GISTDA ทดลองภารกิจส่ง “ผัดกะเพรา” ขึ้นชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน

Logo Thai PBS
GISTDA ทดลองภารกิจส่ง “ผัดกะเพรา” ขึ้นชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีม GISTDA ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดันวิทยาศาสตร์อวกาศร่วมทดลองภารกิจส่งผัดกะเพราไปกับบอลลูน high-altitude ขึ้นชั้นบรรยากาศ หวังเป็นต้นแบบการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในอนาคต

ทีม GISTDA ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ลงพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมภารกิจทดลองส่งเมนูเด็ดของไทย “ผัดกะเพรา” ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน high-altitude ซึ่งบอลลูนจะลอยไปถึงความสูงที่มีบรรยากาศรอบข้างใกล้เคียงกับสภาวะอวกาศ เพื่อทดสอบและศึกษาว่า “ผัดกะเพรา” จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่ เมื่อเราใช้ “บอลลูนทำภารกิจ”

การทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้ จะใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หรือ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ ของ GISTDA เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้บริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ที่ GISTDA ศรีราชา

 
การทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแลปหรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศได้ และที่สำคัญจะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ประเทศเรายังไม่เคยมี

เทคโนโลยีอวกาศที่จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ space grade จริง ๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนกิจการด้านอวกาศที่ประเทศไทยกำลังจะมี พ.ร.บ. กิจการอวกาศ และการพัฒนาแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติก็จะมีคุณค่าและความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแผนการวิจัยในระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System (ESS) ที่เป็นแผนด้านการวิจัยขั้นสูง (Frontier Research) ของประเทศด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง