คพ.ตรวจแหล่งล้างถังสารเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต พบกระจายหลายจังหวัดอีสาน

ภูมิภาค
13 ก.พ. 65
11:45
359
Logo Thai PBS
คพ.ตรวจแหล่งล้างถังสารเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต พบกระจายหลายจังหวัดอีสาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คพ.ตรวจแหล่งล้างถังสารเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต กระจายหลายพื้นที่ภาคอีสาน ผลตรวจคลองอีสานเขียวพบเสื่อมโทรมมาก-ปนเปื้อนโลหะหนัก

วันนี้ (13 ก.พ.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามและเข้าตรวจสอบแหล่งประกอบการล้างถังสารเคมี พบว่า มีรูปแบบการทำเป็นครัวเรือนมีหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในกรณีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนสีคิ้ว ร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้ประกอบการกิจการล้างถังสารเคมี ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าขาว (อบต.หนองหญ้าขาว) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในประเด็นนำถังสารเคมีมาล้างในชุมชน อาจส่งผลกระทบให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำในคลองอีสานเขียวและอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลได้นั้น คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ได้ติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว

นายอรรถพล กล่าวว่า จากการเข้าตรวจสอบพบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการ จำนวน 13 คน ปัจจุบันได้มายื่นขออนุญาตจดทะเบียนพาณิชย์ ณ อบต.หนองหญ้าขาว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เนื่องจากข้อบัญญัติ อบต.หนองหญ้าขาว ว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ยังไม่ครอบคลุมถึงการประกอบการกิจการล้างถังสารเคมี

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีการประกอบกิจการเป็นครัวเรือน ถังสารเคมีที่นำมาล้างส่วนใหญ่เป็นถังขนาด 200 ลิตร และขนาด 1,000 ลิตร รับซี้อมาจาก จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี ซึ่งบางรายเป็นถังที่เคยบรรจุของเสียอันตราย หรือบรรจุสารเคมีอันตราย เช่นมีฤทธิ์กัดกร่อนนำมาล้างเพื่อจำหน่ายโดยน้ำทิ้งจากการล้างสารเคมีถูกรวบรวมพักไว้ในบ่อดิน ถังพลาสติก และบ่อซีเมนต์

จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำในบ่อกักน้ำทิ้งพบว่า มีค่าความสกปรกในรูป BOD และ COD เท่ากับ 6,630 และ 26,800 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ตามลำดับ เมื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ.2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดมาตรฐานค่า BOD และ COD ไม่เกิน 20 และ 120 มก./ล.ตามลำดับ พบว่า มีค่าเกินมาตรฐานดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนัก มีทั้งแคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และสารหนู ในน้ำทิ้งดังกล่าว และตรวจพบร่องรอยการรั่วไหลของน้ำทิ้งจากสถานประกอบการล้างถังไหลลงสู่คลองอีสานเขียว

สำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำคลองอีสานเขียว จำนวน 4 จุด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการล้างถัง พบว่าบริเวณต้นน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณพื้นที่ประกอบการ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) พบว่า มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2

ส่วนคลองอีสานเขียวบริเวณใกล้กับสถานประกอบการล้างถัง มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรมมาก จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 - 5

จากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักของน้ำในคลองอีสานเขียว พบว่า บริเวณท้ายน้ำหลังจากไหลผ่านพื้นที่ประกอบการล้างถัง มีค่าแคดเมียมเท่ากับ 0.01 มก./ล. เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่กรมอนามัยกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 0.005 มก./ล. บ่งชี้ว่าน้ำในคลองอีสานเขียวมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ หรือการบริโภคโดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อกำจัดสารโลหะหนักที่ตกค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง