ศบค.จับตา "คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างดอนเมือง" ติดโควิดสะสม 228 คน

สังคม
14 ก.พ. 65
13:39
2,490
Logo Thai PBS
ศบค.จับตา "คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างดอนเมือง" ติดโควิดสะสม 228 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงาน กทม.พบคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยพบผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 228 คน คิดเป็น 30.01% จากคนงานทั้งหมด พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 80% เดลตาอีก 20% จึงยังสรุปไม่ได้ว่าการระบาดของโรคไม่รุนแรง

วันนี้ (14 ก.พ.2565) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย โดยพบรายงานติดเชื้อตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งประเทศหลายจังหวัดยังรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรายงานผู้ติดเชื้อปอดอักเสบและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิตก็ยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอยู่

ขณะที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ออกมาย้ำว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ยังอยู่ที่ 80% หมายความว่าอีกประมาณ 20% ยังเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นจะสรุปว่าขณะนี้เป็นการติดเชื้อโอมิครอนที่ไม่มีความรุนแรงก็ยังสรุปไม่ได้ และยังต้องเฝ้าระมัดระวังอย่างเข้มงวด

 

หากดูตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนหน้า กทม.อยู่ที่ 1-2 คน แต่วันนี้มีผผู้เสียชีวิตถึง 90 คน และ กทม.เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุด

พญ.อภิสมัย ระบุอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขจับตามองจังหวัดที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 6 ของปี 2565 จะเห็นว่า กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี และนนทบุรี เป็นจังหวัดที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สัปดาห์ที่ 4 - 6 มีการเพิ่มผู้ติดเชื้อเป็น 2 เท่า

ขณะที่ กทม.มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ซึ่งยืนยันด้วย RT-PCR จำนวน 2,892 คน และ ATK จำนวน 64 คน โดยในวันนี้เขตราชเทวีและป้อมปราบศัตรูพ่ายมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 100 คน และอีก 9 เขตมีผู้ติดเชื้อเกิน 60 คนแต่ไม่ถึง 100 คน


ทั้งนี้ มีคลัสเตอร์ใหญ่คือ แคมป์ก่อสร้างที่ดอนเมือง พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมแล้ว 228 คน จากคนงานทั้งหมด 758 คน หรือติดเชื้อไปแล้ว 30.01% โดย กทม.วิเคราะห์ว่า การทำงานอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ติดเชื้อ แต่เป็นช่วงพักที่มีการสูบบุหรี่ร่วมกัน ใช้แก้วน้ำ กระติก กินข้าวร่วมกัน การนั่งรถรับ-ส่งที่แออัด รวมถึงห้องน้ำที่ใช้ร่วมกันก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อด้วย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง