ครม.ไฟเขียว “เกาะราชาใหญ่-เกาะราชาน้อย" เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

สิ่งแวดล้อม
16 ก.พ. 65
11:20
693
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียว “เกาะราชาใหญ่-เกาะราชาน้อย" เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครม.ผ่านกฎหมายกำหนด "เกาะราชาใหญ่-เกาะราชาน้อย" จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล จัดระเบียบท่องเที่ยวใหม่ หลังเปิดท่องเที่ยวให้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคามทำแนวปะการังเสื่อมโทรม

วันนี้ (16 ก.พ.2565) น.ส.รัชดา  ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ครม.อนุมัติร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่และเกาะราชาน้อย ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่เกาะราชาใหญ่และเกาะราชาน้อย จ.ภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นการสงวนคุ้มครอง อนุรักษ์ และจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน

รวมทั้งการสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเกาะราชาใหญ่และเกาะราชาน้อยเป็นเกาะที่มีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์และมีระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในการดำน้ำดูปะการัง แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ กลับเป็นภัยคุกคาม จนทำให้แนวปะการังและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของเกาะราชาใหญ่และเกาะราชาน้อยในปัจจุบันเสื่อมโทรมอย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้ขึ้น เพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์ระบบนิเวศ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

1.กำหนดให้บริเวณหมู่เกาะราชาใหญ่และราชาน้อย รวมถึงพื้นที่รอบทะเลจำแนกออกเป็น 3 บริเวณ ดังนี้

บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมด รวมถึงชายหาดของเกาะราชาใหญ่และเกาะราชาน้อย

บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงมาจนถึงแนวปะการังธรรมชาติและบริเวณต่อเนื่อง 

บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 ออกไปภายในบริเวณตามที่กำหนดในประกาศ

2.กำหนดข้อห้ามกระทำภายในพื้นที่บริเวณที่ 1-3 ของหมู่เกาะราชาใหญ่และราชาน้อย อาทิ บริเวณที่ 1-3 ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย หรือวัตถุอันตราย ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมชายหาด แนวปะการัง หรือสัตว์น้ำในแนวปะการัง

บริเวณที่ 1 ห้ามดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บนชายหาด เช่น การก่อสร้างการใช้ประโยชน์ เว้นแต่การดำเนินการของหน่วยงานราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งนี้ ต้องแจ้งให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินการไม่น้อยกว่า 30 วัน

บริเวณที่ 2 ห้ามทิ้งสมอเรือ ห้ามจับ ขัง ล่อปลา ให้อาหารปลา หรือครอบครองสัตว์น้ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวดู ส่วนการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เจ็ทสกี เรือลากร่ม เรือลากกล้วย ต้องอยู่ในพื้นที่ที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมทั้ง ห้ามทำประมงทุกชนิด ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ เว้นแต่ได้รับอนุญาต

บริเวณที่ 2-3 การนำเรือเข้า-ออก และจอดเรือ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เช่น การจอดเรือเทียบทุ่น หรือสะพานท่าเทียบเรือ หรือบริเวณโป๊ะจอดเรือ ต้องจอดในจุดที่กำหนดและเป็นจอดเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว การนำเรือเข้าออกต้องเป็นไปตามเส้นทางที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อแนวปะการัง รวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมเรือ นายท้ายเรือ กัปตันเรือท่องเที่ยวจะต้องมีใบรับรองผ่านการฝึกอบรมควบคุมเรือท่องเที่ยวของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

3.ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำหรือกิจกรรมเรือนำเที่ยวที่ดำเนินการอยู่ก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ จะต้องขออนุญาตหรือจดแจ้งกับหน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะต้องดำเนินการจัดทำเครื่องหมายแสดงขอบเขตพื้นที่ บริเวณที่ 2 ให้ชัดเจนและแล้วเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมกำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ กำหนดพื้นที่จอดเรือ กำหนดพื้นที่เข้าออกของเรือหรือพื้นที่อื่นๆ กำหนดรูปแบบทุ่นจอดเรือ ทุ่นแสดงแนวเขตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง