"พิธา" ทวงสัญญาหาเสียงนายกฯ ชี้เป็นคนพูดไม่จำ แต่คนฟังไม่ลืม

การเมือง
18 ก.พ. 65
22:55
468
Logo Thai PBS
"พิธา" ทวงสัญญาหาเสียงนายกฯ ชี้เป็นคนพูดไม่จำ แต่คนฟังไม่ลืม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หัวหน้าพรรคก้าวไกลทวงสัญญา พล.อ.ประยุทธ์ ตอนหาเสียง "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-เบี้ยคนชรา-เงินอุดหนุนเด็ก" เปรียบคำพูดนายกฯ คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม

วันนี้ (18 ก.พ.2565) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีหนึ่งเรื่องที่เห็นด้วยกับนายกฯ คือสถานการณ์บ้านเมืองของเราอยู่ในโลกใบใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งเรื่องวิกฤตโรคระบาดหลายระลอก มีผู้ติดเชื้อกว่า 420 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ต้องปิด-เปิดประเทศ เกิดรอยต่อทางเศรษฐกิจ และทำให้ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "เศรษฐกิจฟุบเฟ้อ"

"ฟุบ" เพราะล้วงกระเป๋าไม่เจอเงิน ไม่พบสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น ส่วน "เฟ้อ" เพราะช่วงที่เป็นรอยต่อเศรษฐกิจปิดๆ เปิดๆ ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ราคาขึ้นสูง ทั้งการกักตุนในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟุบ นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่จะกระทบราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเงินเฟ้อทั่วโลกที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ย นั่นหมายความว่า ภาระ ต้นทุน การกู้หนี้ยืมสินจะสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทอาจอ่อนค่าลง

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังไม่ปรับตัว เต็มไปด้วยข้อจำกัด ทุกอย่างมีต้นทุน มีเส้นสาย มีค่าใช้จ่าย ความโปร่งใสลดลง แต่คอร์รัปชันสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามว่าผู้นำในศตวรรษที่ 21 แบบไหนที่ต้องการในสถานการณ์เช่นนี้

เราต้องการผู้นำที่ทันสมัย ทันโลก มีความเป็นสากล กล้าหาญ เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ-โรคระบาด เห็นอกเห็นใจประชาชน และมีหัวใจเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณลักษณะแบบนั้น และไม่เชื่อว่าจะนำพาประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้

นายพิธา ระบุอีกว่า ปัญหาภาวะผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ คือมองมุมเดียว ไม่มีบริบท พูดคนเดียว ไม่ต้องการให้คนอื่นตอบโต้ จากการชี้แจงของนายกฯ ที่บอกว่าไทยฟื้นตัวจากโควิดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียนั้น เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่มิ.ย.2563 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกแรกมาสื่อสารกับประชาชน เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน

ส่วนเรื่องการลงทุนและการส่งออก ที่นายกฯ และรัฐมนตรีบางคนบอกว่าส่งออกดีมาก แต่เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ และทุกประเทศในอาเซียนกลับฟื้นช้าที่สุด สะท้อนว่าทุกอย่างดูดีเมื่อพูดแบบไม่มีบริบท

 

นอกจากนี้นายกฯ ได้พูดกลางสภาฯ เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 600,000 ล้านบาทและดีกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่หากนำตัวเลขตั้งแต่ปี 2004-2010 พบว่าสัดส่วนเงินลงทุนเข้าไทยน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะนายกฯ เอาฐานต่ำมาเทียบจึงบอกว่าดีกว่าช่วงโควิด ซึ่งการมีคนมาลงทุนในประเทศ ไม่เท่ากับการมีนวัตกรรมในประเทศ

ปี 2562 นายกฯ หาเสียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท แต่ผ่านมา 3 ปี ค่าแรงอยู่ที่ 310-320 บาท นอกจากนี้ยังสัญญาว่าจะให้เบี้ยคนชราคนละ 1,000 บาท แต่มติ ครม.เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว นายกฯ ปรารภให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ หาทางออกว่าจะหาเงินเพิ่มให้ผู้สูงอายุได้อย่างไร

"หากนายกฯ เห็นอกเห็นใจประชาชน คงทำตามที่หาเสียงไว้ว่าจะสนับสนุนเงินเด็กเล็กอายุ 0-6 ขวบ จำนวน 2,000 บาทต่อเดือน แต่ตอนประชุม ครม.บอกให้แค่ 600 บาท นอกจากนี้ยังหาเสียงไว้ว่าเงินเดือนขั้นต่ำของคนเรียนจบใหม่ 18,000-20,000 บาท ตอนนี้อย่าว่าแต่เงินเดือน งานที่จะหาให้เขาก็ยังไม่มี"

การพูดของนายกฯ จึงเป็นคำพูดที่คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม

นอกจากนี้ นายพิธายังถามเรื่องมาตรการด้านพลังงานในการดูแลประชาชน และการใช้บล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บข้อมูลว่ารัฐบาลจะใช้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาประเทศ รวมถึงคำชี้แจงของนายกฯ เรื่องการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ นายพิธายังถามเรื่องมาตรการด้านพลังงานในการดูแลประชาชน และการใช้บล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บข้อมูลว่ารัฐบาลจะใช้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาประเทศ รวมถึงคำชี้แจงของนายกฯ เรื่องการค้ามนุษย์

ในช่วงท้าย นายพิธา เสนอแนะรัฐบาลให้ปิดเกมโควิด-19 โดยเปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุก แจก ATK ไปยังคลัสเตอร์ที่พบ ฉีดวัคซีนถึงบ้าน และเสนอให้ใช้เทคโนโลยีตรวจโควิดด้วยการใช้ลมหายใจ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มทำแล้ว

ขณะที่รายจ่ายของประชาชนและหนี้สิน ต้องเปลี่ยนดัชนีชี้วัดในการบริหารเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานให้ตอบโจทย์ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ และสุดท้ายเรื่องรายได้ คือสุราก้าวหน้า โดยแนะนำให้ รมว.พาณิชย์ช่วยส่งเสริม รมว.อุตสาหกรรมช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น รมว.วัฒนธรรมหาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การดื่มเหล้า และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยให้เรื่องกินดื่มของไทยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการท่องเที่ยว

อ่านข่าวอื่นๆ

บทวิเคราะห์ : บท'พระราม'ระวัง 'งอมพระราม'

"นักเลงข้างถนน-อำมหิต" วาทะนายกฯ-โรม ยอมวอล์กเอาต์

"อนุทิน-ฝ่ายค้าน" โต้ปมรับมือโควิดช้า-ฉีดวัคซีนเด็ก 6 ขวบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง