ปรับเมนูใหม่ให้ "เสือ-ลิง-หมี" สถานีเพาะเลี้ยง ถูกหั่นงบฯ 60%

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 65
15:55
2,312
Logo Thai PBS
ปรับเมนูใหม่ให้ "เสือ-ลิง-หมี" สถานีเพาะเลี้ยง ถูกหั่นงบฯ 60%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยอมรับได้รับผลกระทบหนัก ถูกลดงบฯ ดูแลสัตว์ป่า 700 ตัว จากปีละ 2 ล้านบาท เหลือ 6 แสนบาท ต้องติดหนี้ค่าอาหารเสือโคร่ง 2.5 แสนบาท พร้อมปรับเมนูให้สัตว์ได้กินอิ่ม

"ติดหนี้ค่าอาหารเสือกว่า 250,000 บาท" ตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พูดถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น หลังถูกลดงบประมาณดูแลสัตว์ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จาก 2,000,000 บาท เหลือปีละ 600,000 บาท

ด้วยความเชื่อใจ เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเททำงาน และเห็นความสำคัญของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ผู้ค้าในตลาด อ.ลานสัก ที่ซื้อขายกันอยู่เป็นประจำ ยอมให้ค้างค่าอาหารของเสือเป็นเงินหลักแสนบาท เป็นค่าอาหารปลายเดือน ธ.ค.-ก.พ. เลี้ยงดูเสือโคร่ง 13 ตัว เสือดาว 7 ตัว

 

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บอกว่า หลังถูกตัดงบประมาณ ได้รับผลกระทบหนัก เพราะงบฯ เลี้ยงดูสัตว์ป่ากว่า 700 ตัว ถูกปรับลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562

งบฯ ค่าใช้สอยทั้งปี 2565 ถูกตัดเหลือ 600,000 บาท จากเดิมที่เคยได้รับปีละ 2,000,000 บาท หรือลดกว่า 60 %

โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ในกรงเลี้ยงที่ต้องดูแลตลอดชีวิต แต่เข้าใจถึงสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลต้องใช้เงิน ในด้านสาธารณสุขและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนก่อน

 

กรมอุทยานฯ พยายามสนับสนุนหลังงบน้อยลงหลายเท่าตัว แต่ช่องหาเงินก็ยาก ซึ่งสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ามีเงินรายลดลง นักท่องเที่ยวลดลง เพราะ COVID-19 เป็นเรื่องที่ผู้บริหารลำบากใจว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาเติม

ลดค่าอาหารเสือเหลือ 80 จากตัวละ 250 บาท/วัน

จากเดิมเคยได้งบค่าอาหารเสือโคร่ง อยู่ที่ตัวละ 250 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นค่าอาหารสำหรับเลี้ยงให้สัตว์ได้รับโภชนาการที่พอเหมาะ

บางแห่งให้อาหารเสือโคร่งด้วยเนื้อวัวทั้งหมด วันละ 5 กิโลกรัม แต่ที่สถานีฯ อาจใช้เป็นโปรตีนจากเนื้อไก่แทน เพราะในปี 2565 ค่าอาหารเสือโคร่งเหลือตัวละ 80 บาทต่อวัน ใช้อย่างประหยัดที่สุดก็ตกเดือนละแสนบาท

 

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อธิบายว่า เสือที่ดูแลอยู่ ไม่สามารถปล่อยตามธรรมชาติได้ เพราะไม่ใช่สายพันธุ์อินโดจีนที่อยู่ในผืนป่าไทย แต่เป็นเสือโคร่งลูกผสมเบงกอล ไซบีเรีย อีกทั้งเติบโตมาด้วยคนเลี้ยง ส่วนสัตว์อื่น ๆ บางส่วนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ ลดภาระค่าใช้ลงส่วนหนึ่ง

80 บาท ซื้อเนื้อได้ 1 กก. แต่เราจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ อย่างน้อยต้องให้เสือได้กินเนื้อไก่ 3 กก. ยังต้องยืนไปที่ราคาเดิมอยู่ดี จากเงิน 6 แสนที่ต้องใช้ 1 ปี แต่ใช้จริงได้ 3-4 เดือน อีก 8-9 เดือนจะต้องช่วยกัน จะทำอย่างไรให้สัตว์ดำรงต่อไปได้

นอกจากนี้ ราคาผลไม้ที่ปรับสูงขึ้น ยังกระทบการดูแลหมี 4 ตัว ลิงของกลาง ลิงแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า และลิงพลัดหลงรวม 171 ตัว ซึ่งหมีกินข้าวกล้องหุงผสมอาหารสุนัข 1 มื้อ วันละ 17 กิโลกรัม เดือนละ 8,000-9,000 บาท ผลไม้อีก 1 มื้อ ช่วงใดผลไม้ราคาสูงมาก ก็จะเพิ่มข้าวให้มากขึ้น เพื่อให้สัตว์กินอิ่มเพียงพอ ลดอาการหงุดหงิดและทำร้ายกันเอง

จากเดิมกล้วยเคยซื้อหวีละ 10-15 บาท ไม่มีราคานั้นแล้ว ตอนนี้หวีละ 20-30 บาท แต่ก็ต้องหามาเลี้ยง ผลไม้ต่าง ๆ ขึ้น

กระทบเพาะพันธุ์ "ละมั่ง-เนื้อทราย" ปล่อยคืนป่า

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนทำหน้าด้วยใจรัก เพราะไม่มีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ก็ต้องประหยัดและวางแผนออกไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ และอาหารสัตว์ในตัวอำเภอ เพียง 2 วันต่อสัปดาห์

แต่การปรับลดงบฯ ยังกระทบแผนงานอื่น ๆ ทั้งโครงการเพาะพันธุ์ละมั่ง เนื้อทรายจำนวนมากปล่อยคืนป่า เมื่อลดอาหารทำให้สัตว์สุขภาพไม่ดี เปอร์เซ็นต์การติดลูกก็ลดลงตามไปด้วย อัตรารอดชีวิตน้อยลงจากที่ตั้งเป้ามีลูกสัตว์ปล่อยสู่ธรรมชาติได้ 80 % ก็พยายามลดลงไม่ให้ต่ำกว่า 70 %

 

ขณะนี้มีเนื้อทรายแม่พันธุ์ 150 ตัว ละมั่งแม่พันธุ์ 50 ตัว กินหญ้าอย่างต่ำตัวละ 5 กิโลกรัมต่อวัน หรือเฉลี่ยรวมวันละตัน ในช่วงหน้าแล้งต้องซื้อทั้งหมดตันละ 2,000 บาท เฉลี่ย 1 เดือน ใช้งบฯ ในส่วนละมั่ง เนื้อทราย 60,000 บาท

แต่เดิมจะใช้อาหารเสริม เป็นอาหารข้นวันละ 5 กระสอบ เพื่อให้ได้ออกลูกได้ดี แต่ขณะนี้งบฯ ลด จะให้เฉพาะสัตว์ตัวที่อ่อนแอลงมาก ๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ ไม่ผอมแห้งเกินไป

ดูแลสัตว์ 700 ตัว - แบกภาระสัตว์ของกลางเพิ่ม

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า การดูแลสัตว์ป่าของกลางจากเดิมเป็นภารกิจรองของทุกสถานีเพาะเลี้ยงฯ แต่ขณะนี้กลายเป็นภารกิจหลัก

ล่าสุดรับลิงแสมของกลาง 21 ตัว ซึ่งมีความเครียดตั้งแต่อยู่ในโรงเรือนที่ถูกขัง สภาพหลังคาเตี้ย ร้อน อยู่รวมกันเป็นฝูง ส่วนตัวที่รับมาเป็นตัวเล็ก ๆ ช่วง 1-2 วันโทรม ๆ ขณะนี้สุขภาพดีขึ้น

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ โดยใช้พื้นที่ 300 ไร่ เลี้ยงดูแลสัตว์กว่า 700 ตัว แบ่งเป็นโซนละมั่ง เนื้อทราย กวาง เสือ นก โซนสัตว์ของกลาง นก นาก อีเห็น แมวดาว ชะมด หมีขอ หมี และลิง มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 26 คน

 

ภารกิจสำคัญ คือ การเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก สัตว์ใกล้สูญพันธ์ให้สามารถดำรงสายพันธุ์ไว้ได้ เช่น ฟื้นฟูพญาแร้งในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ หวังทำรังวางไข่ ออกลูกให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ฟื้นฟูวัวแดงสายพันธุ์ไทยเพื่อเตรียมพร้อมฝูงประชากรในกรงเลี้ยง ลดความเสี่ยงสูญพันธุ์จากโรคระบาดอย่างลัมปีสกิน

 

การเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เช่น เนื้อทราย ละมั่ง ซึ่งสัตว์ลำดับต้น ๆ ของห่วงโซ่อาหาร ถือเป็นการฝากพันธุกรรมในป่าธรรมชาติ และให้คัดสรรพันธุกรรมโดยธรรมชาติ ให้เข้มแข็งหลบหลีกสัตว์ศัตรูได้ดีขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤต! งบอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ถูกลด 60% 

แบก 2.6 หมื่นชีวิตสัตว์ป่า หั่นงบฯ ดูแลจาก 90 ล้านเหลือ 10 ล้าน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง