นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย

ต่างประเทศ
23 ก.พ. 65
06:48
703
Logo Thai PBS
นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นานาชาติเดินหน้าใช้มาตรการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซีย หลังจาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศรับรองพื้นที่ยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนให้เป็นรัฐเอกราช ขณะที่การปะทะกันในพื้นที่พิพาทดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (23 ก.พ.2565) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยขึ้นเหนือโรงไฟฟ้าในลูฮันสค์ จากเหตุยิงกระสุนปืนใหญ่และปืนครกในพื้นที่ความขัดแย้ง ใกล้กับโรงไฟฟ้า จนส่งผลให้เกิดไฟไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแห่งนี้

 

โดยเจ้าหน้าที่ยูเครน เปิดเผยว่า หน่วยดับเพลิงไม่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากยังเกิดการยิงกระสุนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และการกระทบกระทั่งกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเร่งอพยพออกจากพื้นที่

 

ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกภาพวิดีโอรถทหารหลายคันที่วิ่งไปตามถนนในโดเนทสค์ ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ปกครองพื้นที่อ้างว่า ทหารรัสเซียกำลังเข้าประจำการในพื้นที่ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารถทหารเหล่านี้เป็นของกองทัพรัสเซียจริงหรือไม่

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์คำสั่งส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวทางตะวันออกของยูเครนว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง

 

 

โดยไบเดนขนานนามท่าทีของรัสเซียว่าเป็นการเปิดฉากบุกยูเครน พร้อมประกาศคว่ำบาตรสถาบันการเงินรัสเซีย 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคารทหารรัสเซียที่มีส่วนดำเนินการซื้อขายยุทโธปกรณ์ต่างๆ ด้วย พร้อมคว่ำบาตรกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในรัสเซียและครอบครัว เพื่อเริ่มตัดขาดเศรษฐกิจรัสเซียบางส่วนจากระบบการเงินโลก

 

ด้านบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย 5 แห่งและมหาเศรษฐี 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคนใกล้ชิดของปูตินรวมอยู่ด้วย เพื่อตอบโต้การสั่งส่งทหารเข้าไปยังโดเนทสค์และลูฮันสค์

 

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเห็นชอบให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆ รวมทั้งห้ามนักลงทุนจากอียูซื้อขายพันธบัตรของรัฐบาลรัสเซียด้วย แต่ยังไม่มีการสั่งคว่ำบาตรเจาะจงไปที่ วลาดิเมียร์ ปูติน แต่อย่างใด



ท่าทีเหล่านี้มีขึ้น หลังจากโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี สั่งระงับการออกใบอนุญาตโครงการท่อส่งแก๊สนอร์ด สตรีม 2 จากรัสเซียเข้าสู่ยุโรป เพื่อตอบโต้ท่าทีของรัสเซีย ที่ชาติตะวันตกมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกยูเครนในวงกว้าง ซึ่งท่อส่งแก๊สดังกล่าวใช้ส่งแก๊สที่รัสเซียผลิตได้กว่าร้อยละ 40 เข้าสู่ยุโรป

 

ที่มา : AP, Reuters, BBC, CNN

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"รัสเซีย" ขัดแย้งกับ "ยูเครน" เพราะอะไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง