ศบค.กางตัวเลขใช้เงินโควิด 3 ปี 1.34 แสนล้านบาท

สังคม
23 ก.พ. 65
13:28
639
Logo Thai PBS
ศบค.กางตัวเลขใช้เงินโควิด 3 ปี  1.34 แสนล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศบค.กางตัวเลขค่าใช้จ่ายงบรักษาโควิด 3 ปี 134,072 ล้านบาท ชี้อัตราเฉลี่ยต่อคนกลุ่มสีแดง 252,182 บาท รองลงมากลุ่มสีเหลือง 81,844 บาท โดยวันที่ 1 มี.ค.นี้ ปรับเกณฑ์ใหม่ลดสีเขียวเหลือ 12,000 บาท สีเหลือง 69,300 บาท และสีแดง 214,400 บาท

วันนี้ (23 ก.พ.2565) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงการจ่ายค่าบริการโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2565 ว่า ในปี 2563 มีการจ่ายค่าบริการโควิดไปแล้ว 3,841.15 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมบัญชีกลาง 232.19 ล้านบาท ประกันสังคม 306.87 ล้านบาท และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,302.09 ล้านบาท

ส่วนปี 2564 กระโดดขึ้นมาสูงมาก จ่ายไปแล้ว 97,747.94 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมบัญชีกลาง 3,652.97 ล้านบาท ประกันสังคม 42,917.39 ล้านบาท และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 51,177.58 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 จ่ายผ่านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอของบฯ เพิ่ม 51,065.13 ล้านบาท 

หากรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายค่าบริการโควิดในช่วงปี 2563-2565 รวมทั้งหมดจำนวน 134,072 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และก้อนที่ใช้เงินมากเป็นผู้ป่วยโรคสีแดง 

 

ส่วนยอดการจ่ายชดเชย พบว่า ภาครัฐที่มีจำนวนโรงพยาบาล 3,506 แห่ง ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 70,994 ล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่ได้จ่ายอีก 3,090 ล้านบาท ส่วนเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 27,160 ล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่ได้จ่ายอีก 100 ล้านบาท รวมแล้วเบิกจ่ายไปเกือบแสนล้านบาท

ปรับเกณฑ์ค่ารักษาโควิดเริ่ม 1 มี.ค.นี้

สำหรับค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ต่อราย แบ่งตามอาการ โดยผู้ป่วยสีเขียว พบว่า ภาครัฐจ่ายไป 23,248 บาท เอกชน 50,326 บาท, ผู้ป่วยสีเหลือง ค่าใช้จ่าย 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท และผู้ป่วยสีแดง ค่าใช้จ่าย 252,182 บาท และเอกชน 375,428 บาท ซึ่งจะเห็นว่าเอกชนสูงกว่าภาครัฐพอสมควร

ขณะที่ในวันที่ 1 มี.ค.2565 สปสช.จะใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยปรับราคาลงมา โดยยผู้ป่วยสีเขียว อยู่ที่ 12,000 บาท สีเหลือง 69,300 บาท และสีแดง 214,400 บาท

ขณะที่สัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 จากการสำรวจพบว่าเป็นผุ้ป่วยสีเขียว (ไม่มีอาการ/อาการน้อย) ใช้สิทธิในส่วนนี้ถึง 88% ขณะที่สีแดง (ใส่เครื่องช่วยหายใจ-ใช้ออกซิเจน) มีเพียง 1% ส่วนสีเหลือง (มีโรคแทรกซ้อน/มีภาวะปอดอักเสบ) มี 11% อย่างไรก็ตามที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขณะนี้รัฐบาลยังคง UCEP แต่หากมีการปรับเกณฑ์ก็ให้เสนอเพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้สมเหตุสมผลต่อไป

อ่านข่าวอื่นๆ

วันแรก! โควิดเกิน 2 หมื่น เสียชีวิต 39 คนรวม ATK สะสม 38,122 คน

แม่โบกผ้าอ้อมลูก 1 ขวบติดโควิดไม่มีรพ.-"อนุทิน" ยันเตียงพอ

กทม.ยันไม่ต้องรอเตียง เปิด CI 9 แห่ง 4,951 เตียง รองรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง