จับตารัสเซียใช้ "จอร์เจีย โมเดล" จัดการยูเครน

ต่างประเทศ
24 ก.พ. 65
14:48
4,707
Logo Thai PBS
จับตารัสเซียใช้ "จอร์เจีย โมเดล" จัดการยูเครน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทั่วโลกต่างจับตามองว่าผู้นำรัสเซียจะเดินเกมอย่างไร ซึ่งมีการคาดการณ์ในหลายทิศทาง แต่ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเป็นไปได้สูง คือการใช้วิธีการเดียวกับที่ใช้จัดการจอร์เจีย เมื่อปี 2008 ขณะที่หลายประเทศทยอยประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

วันนี้ (24 ก.พ.2565) ภายหลังที่รัสเซียรับรองเอกราชของโดเนทสค์และลูฮันสค์แล้ว มีคำถามว่าก้าวต่อไปของรัสเซียจะทำอย่างไรต่อไป และวิกฤตยูเครนจะลงเอยแบบไหน ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องย้อนกลับไปดูประเทศที่เคยประสบชะตากรรมคล้ายกันมาก่อนอย่างจอร์เจีย

อดีตสหภาพโซเวียต ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลดำ มีพรมแดนติดกับรัสเซีย รวมทั้งมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียอยู่ด้วย ในพื้นที่อับคาเซียและเซาท์ ออสเซเทีย

ขณะที่ยูเครน ซึ่งเคยเสียไครเมียให้กับรัสเซีย เมื่อปี 2014 ส่วนดินแดนทางตะวันออกของประเทศกำลังเผชิญวิกฤต ซึ่งอาจจะซ้ำรอยกับสถานการณ์ที่จอร์เจียเคยเผชิญ เมื่อกว่า 13 ปีที่แล้ว

"รัสเซีย" โจมตีในวันเปิดโอลิมปิก ฤดูร้อน 2008

รัสเซียเปิดปฏิบัติการโจมตีกองทัพจอร์เจียในเซาท์ ออสเซเทีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2008 ซึ่งตรงกับวันที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูร้อน โดยรัสเซียส่งรถถังเข้าไปในพื้นที่และทิ้งระเบิดทางอากาศต่อเนื่อง 4 วัน เพื่อตอบโต้จอร์เจียที่กำลังยกทัพหวังปราบกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเซาท์ ออสเซเทีย

ดมิทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศว่ามีความจำเป็นต้องส่งกองกำลังสันติภาพรัสเซียเข้าไปปกป้องประชาชน โดยสงครามในครั้งนั้นใช้เวลาเพียง 5 วัน และจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย หลังการลงนามข้อตกลงหยุดยิงในกรุงมอสโก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจอร์เจียในครั้งนั้น คล้ายกับเหตุการณ์ที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่ความเหมือนกันของทั้ง 2 เหตุการณ์ คือไม่ได้เริ่มต้นที่การบุกโจมตีของรัสเซีย

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ใน 2 ประเทศ อาจกล่าวได้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการแผ่ขยายอิทธิพลของตะวันตกเข้าไปในดินแดนที่ปูตินมองว่าเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย

ผู้นำจอร์เจีย-ยูเครนพยายามเข้าเป็นสมาชิกนาโต

โดยเมื่อปี 2003 และปี 2004 กระแสการปฏิวัติในจอร์เจียและยูเครน ส่งผลให้นักการเมืองฝ่ายนิยมตะวันตกก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและพยายามนำประเทศเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต

ก่อนที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะใช้โอกาสขณะเยือนยุโรปประกาศสนับสนุนจุดยืนของทั้ง 2 ประเทศนี้ เมื่อเดือน เม.ย.2008

นับจากนั้นเพียง 4 เดือนเศษเท่านั้น สงครามระหว่างรัสเซียและจอร์เจียได้ปะทุขึ้น ก่อนที่รัสเซียจะประกาศรับรองเอกราชของอับคาเซียและเซาท์ ออสเซเทีย ในปลายเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน

ส่วนสถานการณ์ยูเครน รัสเซียได้ผนวกรวมไครเมีย เมื่อปี 2014 และเข้าไปสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในโดเนทสค์และลูฮันสค์ ก่อนที่ล่าสุดจะประกาศรับรองเอกราชให้กับ 2 ดินแดนนี้

"รัสเซีย" เบาใจ หลังสหรัฐฯ-ยุโรปไม่ตอบโต้รุนแรง

ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่า ผลลัพธ์ของสงครามในจอร์เจีย ทำให้รัสเซียเบาใจได้ว่า สหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้รุนแรงเหมือนคำขู่ที่มีมาโดยตลอด

ความเชื่อนี้ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งจากการที่ชาติตะวันตกปล่อยให้ยูเครนต้องสูญเสียไครเมียไป ขณะที่ยอมหลับตาข้างหนึ่งให้กับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตะวันออกของยูเครน ทั้งที่เป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นคนกลางในการเจรจาตามข้อตกลงมินสค์

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัสเซียเลือกใช้วิธีการเดิมแบบ "จอร์เจีย โมเดล" กับการจัดการกับยูเครนในครั้งนี้ เพราะประเมินแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับคุ้มค่า เพราะว่าได้ดินแดนของจอร์เจีย และยังได้ท่าเรือสำคัญในอับคาเซีย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในทะเลดำของรัสเซียอีกด้วย

ใช้ยุทธวิธีแทรกแซงการเมือง-เลือกตั้งของจอร์เจีย

แต่การรับรองเอกราชเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัสเซียเท่านั้น เพราะในกรณีของจอร์เจีย นับตั้งแต่สงครามยุติลงในปี 2008 รัสเซียเพิ่มกำลังพลประจำการทั้งในอับคาเซียและเซาท์ ออสเซเทีย

นอกจากนี้ รัสเซียยังใช้ยุทธวิธีแทรกแซงทางการเมืองและกระบวนการเลือกตั้งในจอร์เจียอีกด้วย โดยเมื่อปี 2012 มหาเศรษฐีจอร์เจียที่มีธุรกิจในรัสเซียชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นผู้นำจอร์เจีย ซึ่งส่งผลให้ "มิเคอิล ซาคัชวิลี" ผู้นำฝ่ายนิยมตะวันตก ต้องลี้ภัยไปอยู่ยูเครน และรัสเซียเริ่มกลับมามีอิทธิพลในจอร์เจียอีกครั้ง

สำหรับยูเครนแล้ว แม้ว่าบทสรุปคงต้องดูกันต่อไป แต่นักวิเคราะห์มองว่าภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนดูจะซ้อนทับ ลงตัวกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในจอร์เจียอยู่ไม่น้อย ส่วนในครั้งนี้คงต้องรอดูว่าชาติตะวันตกจะถอดบทเรียนในจอร์เจียหรือไม่ หรือในที่สุดแล้วจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง