"หมอธีระ" ระบุหยุดรายงานผู้ติดเชื้อโควิดอันตรายต่อสวัสดิภาพ-ความปลอดภัยในชีวิต

สังคม
25 ก.พ. 65
07:40
686
Logo Thai PBS
"หมอธีระ" ระบุหยุดรายงานผู้ติดเชื้อโควิดอันตรายต่อสวัสดิภาพ-ความปลอดภัยในชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอธีระ" เผยทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 431 ล้านคน เสียชีวิต 8,709 คน และมองว่าการจะหยุดรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เป็นแนวคิดที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในสังคม

วันนี้ (25 ก.พ.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ทะลุ 431 ล้านแล้ว เมื่อวานนี้ ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,707,438 คน ตายเพิ่ม 8,709 คน รวมแล้วติดไปรวม 431,594,305 คน เสียชีวิตรวม 5,945,912 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ เยอรมนี เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล และตุรกี

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.03 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 37.17 เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

มาตรา 59 รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในยามวิกฤติที่มีการระบาดของโรค

ข้อมูลสถานการณ์การระบาด อันรวมถึงการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ จำนวนคนป่วย จำนวนคนเสียชีวิต ถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประชาชนทุกคนในสังคมรู้เท่าทันสถานการณ์ ตระหนักถึงความสำคัญในการระแวดระวัง ป้องกันตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม

แต่หากเปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลข้างต้น ย่อมมีโอกาสส่งผลให้คนในสังคมไม่ทราบสถานการณ์จริง เข้าใจผิด ละเลยเพิกเฉย และหากวิกฤติมาก ก่อนที่จะรู้ตัว ก็อาจติดเชื้อ ป่วย หรือเสียชีวิตไป และ/หรือแพร่เชื้อต่อให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นในสังคมไปจำนวนมาก

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดเพียงพอให้แก่ประชาชน มิใช่ใช้อำนาจหน้าที่ตัดสินใจเปิดสิ่งที่อยากเปิดตามใจชอบ จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม

นี่คือหลักการที่ควรพิจารณา และยังสามารถเห็นได้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด เพราะเน้นการดูแลให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตคนในสังคม

RT-PCR และ ATK

ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า การรายงานเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันจาก RT-PCR นั้นถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริงอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ใช้ ATK เป็นหลัก และหากตรวจเป็นผลบวก ก็มีการนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตามกระบวนการที่กำหนด

ทั้งนี้ คนที่จะได้รับการตรวจ RT-PCR ในปัจจุบันนั้นมีจำกัด แม้จะมีคนที่ตรวจได้ผลบวกจาก ATK ไปตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ซ้ำ ก็มักเป็นคนที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น อาการหนัก หรือคนที่มีเศรษฐานะ ซึ่งแนวโน้มเป็นสัดส่วนที่น้อยในสังคม

นอกจากนี้ การติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ก็มีข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลต้า โอกาสที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ และมีอาการน้อย มีสัดส่วนที่สูงกว่าครึ่ง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงบริการ RT-PCR ได้ โอกาส overlap กันจึงมีน้อย

หน้าที่ของรัฐจึงจำเป็นต้องรายงานทั้งจำนวนการตรวจและจำนวนผู้ติดเชื้อจากวิธี RT-PCR และจำนวนการตรวจและจำนวนที่ได้ผลบวกจาก ATK ออกมาพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบสถานการณ์และประเมินได้ว่าสถานการณ์จริงมีลักษณะเป็นเช่นไร

สรุป

การจะหยุดรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน จึงเป็นแนวคิดที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในสังคม และการรายงานเพียงจำนวนติดเชื้อยืนยันจาก RT-PCR เพียงอย่างเดียวจึงถือเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริง

ระบบเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูลที่ดี จึงต้องนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียด หากเป็นสองระบบ ก็รายงานออกมาให้หมด หน้าที่ที่ต้องทำคือ หากกังวลว่าจะ overlap ก็ต้องพัฒนากระบวนการเก็บข้อมูล ตรวจสอบจากผู้ตรวจ

หรือผู้ป่วยว่ามีการตรวจสองวิธีพร้อมกันมากน้อยเพียงใด และรายงานออกมาให้ทราบ ไม่ใช่อ้างว่ามีโอกาส overlap แล้วเลือกรายงานเฉพาะสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าต่ำกว่าความเป็นจริง

สถานการณ์วิกฤติ หน้าสิ่วหน้าขวาน ฉายภาพที่สวยงามทั้งที่กำลังแย่ คนจะไม่รู้เท่าทันสถานการณ์ และไม่สามารถตัดสินใจปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามสถานการณ์

เปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เท่ากับ โปร่งใส

เปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เท่ากับ ไม่ปกปิด

สังคมจะอยู่รอดปลอดภัย ต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ เข้าถึงข้อมูลละเอียด ทำความเข้าใจอย่างถูกต้องถี่ถ้วน และนำความรู้ไปใช้ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญ

นี่คือภูมิคุ้มกันระยะยาว และยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง