สังเกตอาการ MIS-C และ Long COVID ในเด็กหายป่วยโควิด

สังคม
25 ก.พ. 65
14:28
3,692
Logo Thai PBS
สังเกตอาการ MIS-C และ Long COVID ในเด็กหายป่วยโควิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์เผยภาวะอาการ MIS-C และ Long COVID ในเด็ก หลังหายป่วยจากการติดเชื้อ ขณะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบเด็กป่วยภาวะ MIS-C แล้ว 15 คน

วันนี้ (25 ก.พ.2565) กรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลภาวะ MIS-C (มิสซี) และ Long COVID (ลองโควิด) ในเด็ก สำหรับ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

ภาวะ Long COVID อ้างอิงจากนิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับการติดเชื้อโควิดนานกว่า 4-12 สัปดาห์และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ

ในเด็ก พบภาวะนี้เพียงร้อยละ 25-45 ซึ่งระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้ การรักษาโรคนี้มักเป็นการแยกโรคที่รุนแรงอื่นและรักษาตามอาการ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกตปัจจัยเสี่ยงเกิด "ลองโควิด"

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุและพยาธิสภาพของการเกิดภาวะ Long COVID ที่ชัดเจน มีเพียงสมมติฐานที่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของเชื้อ ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อแล้ว แต่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด มีข้อสังเกตที่พบในหลายๆ การศึกษา เช่น เพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของโรคมากในระยะแรก เป็นต้น

ความชุกของอาการผิดปกติต่างๆ ในภาวะ Long COVID จากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบหลากหลายตั้งแต่ร้อยละ 14-64 เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนของนิยาม ขาดองค์ความรู้ด้านพยาธิสภาพ ปัจจัยเสี่ยง และการวินิจฉัย รวมทั้งวิธีการประเมินอาการผิดปกติที่แตกต่างกัน

จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลในผู้ใหญ่ พบว่าอาการ Long COVID ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล/ เครียด ความจำสั้น เจ็บหน้าอก

สถาบันสุขภาพเด็กฯ พบเด็กป่วยภาวะ "มิสซี" 15 คน 

ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กลุ่มอาการนี้เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย.2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด

เด็กมักจะมาด้วยอาการไข้สูง ผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อกจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤต เนื่องจากภาวะช็อก ซึ่งภาวะนี้มีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี ใน

อย่างไรก็ตาม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะนี้ 15 คน ซึ่งยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องติดตามการรักษาต่อเนื่อง โดยพบว่าร้อยละ 7-14 ยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังได้ตรวจติดตามผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันฯ เป็นระยะๆ จากการติดตามในทุกระบบของร่างกายยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

 

อ่านข่าวอื่นๆ

คำแนะนำดูแลเด็กต่ำกว่า 15 ปี ติดโควิด หลังป่วยสะสมสูงหลักหมื่น

นิวไฮ! ไทยติดโควิด ยอด RT-PCR รวม ATK เกิน 47,000 คน

"โอมิครอน" ขาขึ้น 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยปอดอักเสบ เพิ่ม 2 เท่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง