ศธ.เคาะแล้ว! น.ร.ติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าสอบ GAT-PAT ได้

สังคม
1 มี.ค. 65
12:31
3,954
Logo Thai PBS
ศธ.เคาะแล้ว! น.ร.ติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าสอบ GAT-PAT ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศธ.จับมืออีก 3 กระทรวง จัดสอบ GAT/PAT ให้เด็กติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการเล็กน้อย หรือมีความเสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เน้นปฏิบัติตามมาตรการ ศบค. จัดห้องสอบพิเศษ-เข้มเดินทางด้วยรถส่วนตัว

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมการและหาแนวทางร่วมกันเพื่อให้นักเรียนได้เข้าสอบ ไม่เสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรืออยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรค COVID-19 โดยที่สามารถมาสอบได้และได้รับการยินยอมจากแพทย์

ผู้แทน ทปอ.ระบุว่า ปฏิทินการสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ ปีการศึกษา 2565 กำหนดสอบ GAT-PAT ในระหว่างวันที่ 12-15 มี.ค.2565 ประกาศผลสอบวันที่ 18 เม.ย.2565 และสอบวิชาสามัญ ในระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.2565 ประกาศผลสอบวันที่ 20 เม.ย.2565 โดยมีจำนวนผู้สมัคร GAT/PAT และวิชาสามัญ รวมทั้งสิ้น 183,228 คน

แบ่งเป็นการสอบ GAT/PAT จำนวน 177,853 คน และสอบวิชาสามัญ จำนวน 155,282 คน โดย 5 วิชาที่มีผู้สมัครสูงสุด ได้แก่ 1. วิชา GAT ความถนัดทั่วไป จำนวน 173,125 คน 2. วิชาสามัญ ภาษาอังกฤษ จำนวน 149,712 คน 3. วิชาสามัญ ภาษาไทย จำนวน 139,711 คน 4. วิชาสามัญ สังคมศึกษา จำนวน 137,372 คน และ 5. วิชา PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ จำนวน 121,055 คน

จากสถิติการสมัครในปีนี้ พบว่าวิชาที่มีผู้สมัครมากสุดคือ GAT ความถนัดทั่วไป มีผู้สมัครทั้งหมด 173,125 คน เมื่อเทียบยอดการสมัคร GAT/PAT ในปีก่อน ๆ พบว่ามีจำนวนลดลงจำนวนมากตามคาด เนื่องจากการปรับปรุงกระบวนการรับสมัครให้สามารถสมัครหลังทราบผลการคัดเลือกรอบ portfolio จึงทำให้นักเรียนกว่า 80,000 คนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบเผื่อไว้ก่อน

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการเลือกสนามสอบให้ผู้สมัครเลือกสนามสอบเองตามลำดับความต้องการ 5 ลำดับ ผลการจัดสนามสอบ

• 97.2% ได้สนามสอบลำดับ 1 ที่เลือกไว้
• 2.4% ได้สนามสอบลำดับที่ 2-5 ที่เลือกไว้
• 0.4% ได้สนามสอบที่ไม่ได้เลือกไว้

และมีสนามสอบทั้งหมด 213 สนามสอบ ทั่วประเทศ ในการจัดห้องสอบสำหรับผู้ติดเชื้อที่ทีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ตามที่กำหนดในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 23 ก.พ.2565 ให้เข้าสอบในสนามที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะ ไม่สามารถเลือกสนามสอบได้เอง ได้แก่

(1) สนามสอบพิเศษจังหวัดจันทบุรี สำหรับนักเรียนในจังหวัดจันทบุรี ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรีร่วมกับศูนย์สอบมหาวิทยาลัยบูรพา

(2) สนามสอบพิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าสอบให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบ และสามารถเข้าพักในศูนย์สอบพิเศษจนกว่าจะสอบเสร็จสิ้นทุกวิชา

จัดห้องสอบพิเศษ-เข้มเดินทางรถส่วนตัว

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า สำหรับนักเรียนที่กำลังอยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วยนั้น จะมีการจัดห้องสอบให้เป็นการเฉพาะ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสร้างความมั่นใจและปลอดภัย ไม่เป็นสถานที่แพร่เชื้อ รวมทั้งต้องเน้นย้ำให้นักเรียนที่ป่วยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุขหรือจากสนามสอบจัดให้เช่นกัน เพราะการดำเนินการในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้สิทธิในการสอบเพื่อการศึกษาต่ออย่างไม่มีอุปสรรคใด ๆ ซึ่งก่อนวันสอบต้องมีการรายงานรายชื่อ จำนวน และสถานที่พักรักษาตัวให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีสถานศึกษาเป็นสนามสอบได้ทราบก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสอบ

สพฐ.เห็นว่านักเรียนไม่ควรเสียโอกาสตรงนี้ หากเราสามารถช่วยเหลือให้เด็กนักเรียนได้เข้าสอบ ก็จะเป็นการพัฒนาการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง


ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การจัดการสอบให้ปฏิบัติตามมติของ ศบค. วันที่ 23 ก.พ.2565 ชึ่งประกอบด้วย มาตรการ ดังนี้

- ด้านสถานที่สอบ ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนในการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วนแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร

- ด้านผู้เข้าสอบ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง การเดินทางไปสนามสอบควรใช้รถส่วนตัวหรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธารณสุข กรณีไม่มีรถส่วนตัว

- ด้านผู้คุมสอบ ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม

- สนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย ศึกษาธิการจังหวัด ทปอ. จังหวัด ดำเนินการจัดการสอบให้ เป็นไปตามมาตรการ รวมไปถึงการ ใช้พื้นที่ แยกกัก ชุมชน CI. Hospitel ในการสนับสนุนการสอบ การจัดที่พัก การรับส่งผู้ติดเชื้อ และในส่วน กทม. และปริมณฑล ได้ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ในการจัด TAXI ฉุกเฉิน ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ส่วนในต่างจังหวัดให้พิจารณาให้ คกก. โรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการร่วมกับ ผู้จัดสอบในพื้นที่ต่อไป
นายศักดาวุธ ศักดิเศรษฐ์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานและมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่

ยกตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้มีโครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน ให้บริการรับส่งถึงปลายทางโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราอาจจะนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ในการให้บริการสำหรับนักเรียนที่ต้องรักษาอาการป่วย ในกรณีที่ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง