"เครื่องจับเท็จ" รู้ได้ยังไง ว่าใครโกหก

สังคม
2 มี.ค. 65
08:55
6,435
Logo Thai PBS
 "เครื่องจับเท็จ" รู้ได้ยังไง ว่าใครโกหก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีการเสียชีวิตของ "แตงโม นิดา" กลายเป็นคดีดังที่สังคมให้ความสนใจ ตำรวจเตรียมเชิญตัว 5 คนบนเรือที่เกิดเหตุเข้า "เครื่องจับเท็จ" แล้ว "เครื่องจับเท็จ" ทำงานอย่างไร แม่นยำระดับไหน เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีการอย่างไร ลองไปหาคำตอบกัน

กรณีนักแสดงชื่อดัง "แตงโม นิดา" เสียชีวิตหลังพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ เนื่องจากความไม่ชัดเจนในหลายกรณี 

ล่าสุดตำรวจเตรียมเชิญตัวทั้ง 5 คนที่อยู่บนเรือลำเกิดเหตุเข้า "เครื่องจับเท็จ" เพื่อตอบสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัย แล้วกระบวนการในการใช้ "เครื่องจับเท็จ" เป็นอย่างไร  ช่วยตำรวจในการคลี่คลายคดีได้แค่ไหน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงการใช้เครื่องจับเท็จในคดี

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ อธิบายว่า การทำงานของ "เครื่องจับเท็จ" เป็นการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และเทคนิคทางจิตวิทยามาใช้ควบคู่กัน 

หลักการของเครื่องจับเท็จ ใช้ตรวจสอบผู้พูด คือ พยาน หรือ ผู้ต้องหาว่า พูดความจริง หรือ โกหก โดยวัดจากการแสดงออกทางร่างกาย เช่น อัตราการหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต เหงื่อ

หลักคิดเชื่อว่าคนพูดความจริง ค่ากราฟที่ออกมาจะไม่แกว่ง แต่คนโกหกอาจมีความผิดปกติของกราฟ

วิธีการก่อนเข้าเครื่องจับเท็จต้องส่งผลการสอบปากคำเบื้องต้นให้ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะมีการวางตัวรับสัญญาณไว้บนร่างกาย  

อัตราเต้นหัวใจ-ภาษากาย-เหงื่อจับพิรุธ

ระหว่างการซักถาม ผู้เชี่ยวชาญ ยังวิเคราะห์การแสดงความรู้สึก เช่น ความวิตกกังวล ความสับสน ความรู้สึกผิด ประกอบด้วย

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า กรณีถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่ และใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น การติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ เหงื่อที่ชั้นของผิวหนัง ก็จะเกิดการเหนียวนำของกระแสไฟฟ้า เครื่องก็จะอ่านค่าได้ สิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกได้ว่าคน ๆ นั้นเวลาพูด ปฎิกิริยาร่างกายเป็นอย่างไร

บางคนถูกซักถามหัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติ เราไม่สามารถบังคับให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็วได้ ฉะนั้นปฎิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามธรรมชาติ จึงทำให้มีการใช้หลักคิดนี้ จับการพูดโกหกของคน อย่างบางคนโกหกแล้วเหงื่อบนฝ่ามือจะมีมาก บางคนมีสีหน้า ออกอาการท่าทาง จิกเล็บมือ เล็บเท้า หายใจถี่ จุดนี้ผู้เชี่ยวชาญจะอ่านค่าและประเมินได้ว่า คน ๆ นั้นพูดจริงหรือไม่จริงหรือมีอะไรปิดบังซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกด้วยว่า การจะใช้เครื่องจับเท็จให้ได้ผลดีที่สุด ควรจะนำตัวผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย เข้าเครื่องจับเท็จทันทีหลังเกิดเหตุ เพราะหากเวลาล่วงเลยไป ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยจะมีเวลาเตรียมตัว หรือหาข้อมูลมาเบี่ยงเบนประเด็นได้ 

การนำเข้าเครื่องจับเท็จพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ ประเมินร่วมกับฝ่ายสืบสวน และต้องมีผู้เชี่ยวชาญ คนที่จะใช้เครื่องจับเท็จได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรม มีทักษะ ประสบการณ์

"เครื่องจับเท็จ" เคยไขคดีใหญ่

ที่ผ่านมา มีการสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จจนสามารถไขคดีได้สำเร็จมาแล้ว เช่น คดี โชเฟอร์แท็กซี่ นายสมพงษ์ ที่โกหกว่าเก็บเงินและทรัพย์สินได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องโกหก และคดีที่ นายเสริม สาครราษฎร์ ฆ่าหั่นศพแฟนสาว เมื่อปี 2541 และล่าสุดคดี นายไชยพล วิภา ในคดีน้องชมพู่

ส่วนประสิทธิภาพในการใช้เครื่องจับเท็จถือว่ามีความแม่นยำสูง อย่างที่ สหรัฐอเมริกา มีการใช้งานเครื่องจับเท็จเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในคดีที่ยังมีประเด็นข้อสงสัย มีพิรุธ 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวถึงคดีที่จำเป็นต้องมีการใช้เครื่องจับเท็จว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคดีและพยานหลักฐานของของตำรวจ และการประเมินของของคณะทำงาน พนักงานสอบสวน หรือฝ่ายสืบสวน หากพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องนำผู้ต้องสงสัยเข้าเครื่องจับเท็จ

ชุดคำถามต้องสอดคล้องกับคดี 

ส่วนข้อมูลจากเครื่องจับเท็จสามารถนำไปประกอบสำนวนคดีหรือขึ้นศาลได้หรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ กล่าวว่า ศาลก็รับฟัง แต่น้ำหนักพยานหลักฐาน ก็ไม่เท่าหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องจับเท็จเองก็มี เช่น คนที่กระทำความผิดบ่อยครั้ง โกหกเป็นนิสัย เป็นประจำ ซึ่งอาจจะไม่แสดงปฎิกิริยาร่างกายเท่าไร และบางกรณีที่มีการใช้สารเสพติด มีปัญหาทางสมอง มีการใช้งานโรคหัวใจ ความดันอาจส่งผลต่อค่าดีฟาว์มของเครื่องได้

สำหรับชุดคำถามก็ต้องเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับพยานหลักฐานทางคดี โดยเฉพาะประเด็นที่จะเป็นที่เคลือบเคลงสงสัย ยกกรณี แตงโม นิดา เดินไปปัสสาวะท้ายเรือจริงหรือไม่จริง เดินอย่างไร ช่วงกี่โมง ก่อนหน้านั้นทำอะไร เดินไปมีใครเห็นบ้าง แน่นอนต้องมีการกำหนดประเด็นคำถามไว้

ผลของการประเมินหลังเข้าเครื่องจำเท็จแล้ว แต่ละคดีจะใช้เวลาไม่เท่ากัน เพราะความยากง่ายไม่เท่ากัน

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวถึงคดีแตงโม นิดา ว่ามีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง ต้องดูพยานหลักฐาน จากการชันสูตรพลิกศพ ผู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ผลตรวจจากร่องรอยในที่เกิดเหตุ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่พอจะสามารถรวบรวมได้ มารวบรวมเชื่อมกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความเร็วเรือ จีพีเอสจุดที่เรือวิ่ง ประกอบกันทั้งหมด

พร้อมกล่าวทิ้งท้าย "เราอาจจะโกหกคนทั้งโลกได้ แต่เราโกหกตัวเองไม่ได้"

 

คำพิพากษาศาลฎีกาเครื่องจับเท็จไม่ใช่หลักฐาน

 

ทั้งนี้ ผลจาก "เครื่องจับเท็จ" ไม่ใช่หลักฐาน เป็นเพียงส่วนประกอบสำนวนที่ช่วยในการสืบสวนสอบสวน โดยคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อปี 2553 ระบุว่า เครื่องจับเท็จเป็นเพียง เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ นำผลการตอบคำถามมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ แต่ไม่อาจนำมาพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริง การกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรก! จำลองเหตุการณ์ใช้ "เรือสปีดโบ๊ตลำจริง" ไขคดีแตงโม

เปิดแชต "กระติก" หลังแตงโมตกน้ำ-แซนจำลองเหตุการณ์ท้ายเรือ

“กรรชัย” เปิดคลิปสุดท้าย "แตงโม" ร้องเพลงมีความสุขก่อนตกเรือ

เปิดหลักฐาน "สปีดโบ๊ต" พบคราบไวน์-ตั้งข้อหาคนขับเรือประมาท

มุมนิติเวชคดี "แตงโม" คาดแผลจากใบพัดเรือ-ยังไม่ตายขณะจมน้ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง