วิกฤต "รัสเซีย-ยูเครน" ส่งผลทางตรงต่อค่าเงินบาทไทยยังไม่มาก

เศรษฐกิจ
2 มี.ค. 65
18:43
542
Logo Thai PBS
วิกฤต "รัสเซีย-ยูเครน" ส่งผลทางตรงต่อค่าเงินบาทไทยยังไม่มาก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุสถานการณ์ "รัสเซีย-ยูเครน" ส่งผลทางตรงต่อค่าเงินบาทไทยยังไม่มาก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยและรัสเซีย มีสัดส่วนเพียง 0.52% แต่มีผลทางอ้อม และความเสี่ยงยังสูงจากความเสี่ยงจากคู่ค้า, ระบบปฏิบัติการ และกระบวนการชำระเงินอาจล่าช้า

วันนี้ (2 มี.ค.2565) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา มีหลายประเด็นเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดคงเป็นการเจรจาครั้งแรกที่เบลารุสระหว่างคณะผู้แทนรัสเซีย-ยูเครนเพื่อหาแนวทางคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี การเจรจารอบนี้เสร็จสิ้นลงโดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ และตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดการที่จะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของยูเครนในอีกด้านหนึ่งที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กันก็คือ การลงนามในเอกสารเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งอาจทำให้ความพยายามในการเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีของทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างน้อย ณ ขณะนี้

ในขณะที่ทางออกของปมการเมืองระหว่างประเทศยังไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนและเกิดขึ้นแล้วก็คือ ความปั่นป่วนอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับระบบการเงินของรัสเซีย หลังมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตร การแช่แข็งสินทรัพย์ต่างประเทศของรัสเซีย (โดยเฉพาะทุนสำรองระหว่างประเทศ) รวมถึงการประกาศตัดธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียบางแห่งออกระบบ SWIFT

โดยภาวะการขาดสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโร รวมถึงสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ทวีความรุนแรงขึ้น สวนทางเงินรูเบิลที่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ธนาคารกลางและทางการรัสเซียต้องประกาศหลายมาตรการเพื่อจำกัดความเสี่ยงของตลาดและระบบการเงินในภาพรวม

อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวกว่าเท่าตัว (จากระดับ 9.5% ไปที่ 20%) และออกคำสั่งให้ผู้ส่งออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในธุรกิจพลังงานนำ 80% ของรายได้ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศออกมาขาย เพราะธนาคารกลางรัสเซียไม่สามารถนำทุนสำรองฯ มาแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินรูเบิลได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อจำกัดการไหลออกของเงินทุนด้วยเช่นกัน อาทิ การห้ามบริษัทหลักทรัพย์รับคำสั่งขายสินทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุนขาออก โดยห้ามปล่อยกู้และโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศให้กับชาวรัสเซีย

อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่อาจซื้อเวลาเพื่อช่วยประคองสถานการณ์เงินรูเบิลได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และยังมีโอกาสที่จะเห็นระดับอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของเงินรูเบิลในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

ย้อนกลับมาที่ค่าเงินบาทของไทย คงต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่จะผันผวนและมีแรงกดดันในด้านอ่อนค่ามากขึ้น ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงในยามที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและอาจเพิ่มระดับความเสี่ยงขึ้นได้อีกในอนาคต


ทั้งนี้ แม้การค้าระหว่างไทยและรัสเซีย (ส่งออก+นำเข้า) จะมีสัดส่วนเพียง 0.52% ของมูลค่าการค้าโดยรวมทั้งประเทศ แต่คงต้องยอมรับว่า ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำและใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ก็คือ ความเสี่ยงจากคู่ค้าและความเสี่ยงจากระบบปฏิบัติการ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความล่าช้าในกระบวนการชำระเงิน

ซึ่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินของไทยต้องเตรียมรับมือ โดยในช่วงหลังจากนี้ คงต้องรอติดตามว่า การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จะออกมาในลักษณะและมีเงื่อนไขแบบใด อาทิ

1) มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT เฉพาะสถาบันการเงินบางแห่งในรัสเซีย หรือจำกัดเฉพาะการทำธุรกรรมในบางสกุลเงิน สถาบันการเงินในไทยก็จะยังคงสามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินรัสเซียที่ยังอยู่ในระบบ SWIFT หรือปรับเป็นการทำธุรกรรมในสกุลเงินอื่นๆ ได้ เพื่อให้บริการลูกค้าต่อได้

2) มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT กับสถาบันการเงินในรัสเซียทั้งหมด ก็จะทำให้ต้องหาทางเลือกการโอนเงินผ่านระบบอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินในไทยเป็นสมาชิกของระบบอื่นหรือไม่ และจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในกระบวนการทำธุรกรรมด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่งและยังไม่สามารถประเมินทางออกของเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น คาดว่านักลงทุนคงกลับมาประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะ EU มีความเชื่อมโยงในภาคการเงินกับรัสเซียสูง โดยเฉพาะในภาคธนาคาร

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2564 จากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ สะท้อนว่าธนาคารของประเทศสมาชิก EU ที่มีสิทธิเรียกร้อง (Claims) จากคู่สัญญาในรัสเซียรวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 83,840 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 69% ของสิทธิเรียกร้องของธนาคารต่างประเทศทั้งหมด โดยหลักๆ แล้วเป็นธนาคารในอิตาลี (20.8%) ฝรั่งเศส (20.7%) และออสเตรีย (14.4%) ตามลำดับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

วุ่น! ตร.สภ.เมืองนนท์ติดโควิด 6 นาย-นักข่าวอีกหลายสำนัก

เมียนมาปล่อยตัว "ไป่ ทาคน" นายแบบชื่อดังออกจากเรือนจำ  

"หมอยงยุทธ" แนะใช้กรณี "แตงโม" เป็นอุทาหรณ์แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง