"คลัง-ธปท." อุ้มรายย่อยกรณี PayPal ประเทศไทย หยุดให้บริการชั่วคราว 7 มี.ค.

เศรษฐกิจ
4 มี.ค. 65
18:46
325
Logo Thai PBS
"คลัง-ธปท." อุ้มรายย่อยกรณี PayPal ประเทศไทย หยุดให้บริการชั่วคราว 7 มี.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงการคลัง และ ธปท.ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบ PayPal ประเทศไทย หยุดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.นี้ พร้อมสั่งขยายเวลาโอนย้ายการให้บริการแก่ลูกค้าไทยในต่างประเทศมาอยู่ภายใต้ PayPal ประเทศไทย ออกไปเป็นสิ้นปี 2565

วันนี้ (4 มี.ค.2565) ​น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันระหว่าง ธปท. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และบริษัท PayPal ประเทศไทย เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท PayPal จะหยุดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2565 จนกว่าจะปรับปรุงระบบการให้บริการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายไทยได้นั้น ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการรายย่อยข้างต้น จึงพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปเป็นการชั่วคราว

ในการนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้ขยายเวลาที่บริษัทจะต้องโอนย้ายการให้บริการแก่ลูกค้าไทยในต่างประเทศมาอยู่ภายใต้ PayPal ประเทศไทย ออกไปเป็นสิ้นปี 2565 ทำให้ลูกค้าไทยที่มีบัญชี PayPal อยู่แล้วในปัจจุบันจะยังสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้สั่งการให้บริษัทเร่งพัฒนาระบบให้มีกระบวนการแสดงตนและพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้า ที่สอดคล้องตามกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาดังกล่าว

รวมทั้งมีแนวทางให้ความช่วยเหลือและดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนมีช่องทางที่สะดวกและเพียงพอให้ลูกค้าติดต่อสอบถามปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการ ซึ่ง ธปท.จะติดตามการดำเนินการของบริษัทในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ การดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจการชำระเงินปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการชำระเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อีกทั้ง ธปท.ยังได้สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ และเป็นการส่งเสริมการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งจะส่งผลให้บริการชำระเงินสามารถสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง