ตร.สอบประเด็นใหม่ "โรเบิร์ต" โยนแก้วไวน์ทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา

อาชญากรรม
7 มี.ค. 65
07:23
1,853
Logo Thai PBS
ตร.สอบประเด็นใหม่ "โรเบิร์ต" โยนแก้วไวน์ทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจเรียกสอบคนบนเรือสปีดโบตเพิ่ม คดีการเสียชีวิตของแตงโม หลังสอบสวนหลายชั่วโมงพบว่ากระติกเดินทางกลับเป็นคนแรก ส่วนแซนขอเลื่อน อ้างยังไม่สะดวก ขณะที่ ผบช.ภ.1 เผยคดีคืบหน้ามาก มุ่งสางปมลำดับเหตุการณ์และสอบประเด็นใหม่เหตุ "โรเบิร์ต" โยนแก้วไวน์ทิ้งเจ้าพระยา

วันที่ 6 มี.ค.2565 ตำรวจเรียกคนบนเรือสปีดโบตในวันเกิดเหตุ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจนเสียชีวิต รวมถึง น.ส.สุรัตนาวี สุวิพร หรือโบ TK พยานในคดี 1 คน เข้าให้ปากคำด้วย โดย น.ส.อิจศิรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก เดินทางกลับออกจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เมื่อเวลา 20.50 น.ที่ผ่านมา หลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของแตงโม เป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้มีเพียงวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน ที่ไม่ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน อ้างติดธุระส่วนตัว ขอเลื่อนนัดออกไปก่อน

 

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) เปิดเผยว่า ขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยจะกระชับวงการสืบสวนสอบสวนให้แคบลงในบางประเด็น เพื่อให้ได้คำตอบชัดเจน อธิบายข้อสงสัยได้ครบถ้วน โดยวันนี้ได้เรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีหลายคนมาสอบปากคำเพิ่มเติม

พบ "แก้ว" ใกล้จุดเจอร่างแตงโม

ส่วนประเด็นสอบสวนมีประเด็นใหม่กรณีที่มีพยานให้ปากคำอ้างว่า นายโรเบิร์ต โยนแก้วไวน์ หรือแก้วแชมเปญลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าโยนก่อนหรือหลังเวลาเกิดเหตุแตงโมตกเรือ และโยนลงไปด้วยสาเหตุใด ซึ่งในประเด็นนี้นอกจากการสอบปากคำ ตำรวจยังได้ส่งนักประดาน้ำค้นหาวัตถุพยานในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งพบแก้วต้องสงสัยในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่พบร่างแตงโม

 

นอกจากนี้ ยังพบถุงบรรจุวัตถุสิ่งของไม่ทราบชนิดอยู่ใกล้กับแก้วต้องสงสัย จึงเก็บไว้เป็นวัตถุพยานและจะส่งตรวจหาตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของนายโรเบิร์ต และผู้อื่นที่อยู่บนเรือ ก่อนจะพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับคดีการเสียชีวิตของแตงโมหรือไม่

ส่วนงานสืบสวนทราบว่า ชุดสืบสวนสอบสวนกำลังมุ่งเน้นไปที่ประเด็นลำดับช่วงเวลาการเกิดเหตุภายในเรือ ตั้งแต่ช่วงที่เรือเริ่มแล่นเข้ามาใกล้กับจุดเกิดเหตุ การจับเรือครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยมีการเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานที่สามารถหาได้เพิ่มเติม เป็นภาพวงจรปิดจากสถานประกอบการแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถระบุระยะห่างของการขับเรือแต่ละครั้งได้ค่อนข้างชัดเจน โดยพยานหลักฐานดังกล่าวจะมีผลต่อการคำสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ในคดี

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง