ศธ.เดินหน้าแก้หนี้ครู 9 แสนคน ยอดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท

การเมือง
8 มี.ค. 65
10:30
1,093
Logo Thai PBS
ศธ.เดินหน้าแก้หนี้ครู 9 แสนคน ยอดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศธ.เดินเครื่องแก้หนี้ครู กว่า 9 แสนคน ยอดหนี้พุ่งกว่า 1.4 ล้านล้านบาท "ตรีนุช" กำชับเขตพื้นที่ฯ เข้ม คำนวณเงินเหลือร้อยละ 30 ก่อนปล่อยกู้ เตรียมหารือคณะกรรมการจังหวัด 9 มี.ค.นี้

วันนี้ (8 มี.ค.2565) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กําหนดให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ ศธ.มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อมูลพบว่า

 

ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 900,000 คน มียอดหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท ในจํานวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่งทั่วประเทศ รวม 8.9 แสนล้านบาท และหลังจาก ศธ.ได้เริ่มดําเนินโครงการในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 25,800 คน

 

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่า จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทั้งหมด 108 แห่ง มีเพียง 13 แห่ง ที่กําหนดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกิน 5 % ต่อปี ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอย่างน้อย 13 แห่งกําหนดดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7-9 % ต่อปี

สําหรับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสมาชิก 8,478 คน มูลหนี้รวม 9,631,331,007 บาท ได้กําหนดลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้อยู่ที่ประมาณ 5.5 % ซึ่งเป็นแนวทางสําคัญประการหนึ่งที่ทางสหกรณ์ฯ ได้ดําเนินการร่วมกันให้เป็นไปตามแนวทางที่กําหนด

นอกเหนือไปจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการ พักชําระหนี้ในปีที่ผ่านมา โดยทราบว่า ภายในปี 2565 ทางสหกรณ์ออมทรัพย์สุราษฎร์ธานี จะดําเนินการลดดอกเบี้ยตามแผนขั้นบันไดให้เหลือดอกเบี้ยไม่เกิน 5 %

 

น.ส.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อม เป็นสหกรณ์ต้นแบบ และจัดทําแผนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นรูปธรรม กําหนดให้มี ”สถานีแก้หนี้” ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด โดยผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องเข้มงวดในการพิจารณา อนุมัติการก่อหนี้ใหม่ของครู โดยเมื่อรวมยอดหนี้แล้วต้องมีเงินเหลือให้ คุณครูได้ใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30 % ของรายได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมทางไกลของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับจังหวัด ผ่าน ZOOM MEETING และ FACEBOOK ศธ. 360 องศาเพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง