นับถอยหลัง 1 ก.ค. ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

สังคม
9 มี.ค. 65
15:33
9,854
Logo Thai PBS
นับถอยหลัง 1 ก.ค. ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแผน 4 เดือนปรับโควิด-19 ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

วันนี้ (9 มี.ค.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น

ทั้งนี้ มีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ คำนึงถึงทุกมิติ เช่น การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test &Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพ พร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

 

รมว.สธ. กล่าวอีกว่า การเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีการจัดเตรียมแผนเป็นเฟสๆ หลักๆ คือ 4 เดือน โดยจะมีแนวทางครอบคลุมทุกมิติ เตียง การรักษาพยาบาล อัตราความรุนแรงของโรคควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษาพร้อม การเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว การให้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ครอบจักรวาล ที่สำคัญการเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม และหากทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะบูสเตอร์โดส จะลดความรุนแรงได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะสามารถเปิดได้ นายอนุทิน ตอบว่า ใช่ แต่จะมีรายละเอียดขั้นตอนที่จะมีแผนดำเนินการออกมา

วางแผน 3 บวก 1 รองรับเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น"

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงรายละเอียดแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง
  • ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
  • ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน
  • และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า แผนดำเนินการทั้งหมดต้องการให้เกิดภายใน 4 เดือน โดยรายละเอียดจะมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ซึ่งต้องแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ ซึ่งสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไร ก็จะมีแนวทางออกมา ยกตัวอย่าง Covid Free Setting ต้องยกเป็นมาตรฐานควบคุมโรค เป็นต้น

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องไม่เกิน 1 ในพันคน โดยปัจจุบันเฉลี่ย 0.19% จนถึง 0.2% แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณ 0.1%

ปัจจุบันเรายังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% ให้ได้ครึ่งหนึ่ง

เมื่อถามว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ เท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า รายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องให้หมอกรอกข้อมูลเข้ามา แต่เท่าที่ดูประมาณ 20-30% อาจไม่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง เพราะไม่ได้ลงปอด บางคนติดเตียง ท้องเสียและเสียชีวิต แต่เมื่อตรวจ ATK พบบวก

อย่างไรก็ตาม การตรวจเจอโควิดที่เสียชีวิต อาจไม่ใช่โควิด เพราะหลังๆ มีโรคประจำตัว อย่างไตวาย มีภาวะติดเตียงไม่มีคนดูแล โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงต้องเคลียร์ตัวเลขเสียชีวิตตรงนี้ว่าสาเหตุเท่าไหร่ ซึ่งอาจลดลงได้ 20-30% สิ่งสำคัญกลุ่ม 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า วันที่ 1 ก.ค.25 เป็นต้นไปจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ แต่ต้องเป็นไปตามแผนมาตรการที่วางไว้

 

อ่านข่าวอื่นๆ

กรมควบคุมโรค ย้ำ "แม่ติดเชื้อโควิด ยังให้นมลูกได้"

รับสมัครเด็ก 6-11 ปี วิจัยฉีดวัคซีนสูตร "ซิโนแวค-ไฟเซอร์"

ครม.เคาะ! ตัดกลุ่มโควิดสีเขียวจาก UCEP Plus ให้รักษาตามสิทธิ เริ่ม 16 มี.ค.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง