บอร์ดอุทยานฯ ตีกลับเพิกถอนป่าดอยภูนาง 397 ไร่ผุดอ่างเก็บน้ำ

สิ่งแวดล้อม
10 มี.ค. 65
16:12
442
Logo Thai PBS
บอร์ดอุทยานฯ ตีกลับเพิกถอนป่าดอยภูนาง 397 ไร่ผุดอ่างเก็บน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บอร์ดอุทยานแห่งชาติ ยังไม่ลงมติพิจารณาวาระเพิกถอนอุทยานฯ ดอยภูนางบางส่วน เนื้อที่ 397 ไร่ ตามที่กรมชลประทาน เสนอขอนำไปสร้างอ่างเก็บน้ำ ขอให้ดูข้อมูลทุกมิติ ผลกระทบเสียป่า สัตว์ป่า นกยูง และความคุ้มทุนพื้นที่เกษตร ให้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดหาทางเลือกอื่น

วันนี้ (10 มี.ค.2565) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ยังไม่มีข้อสรุปกรณีวาระกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนางบางส่วน เนื้อที่ 397 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปง จ.พะเยา

โดยวันนี้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการพิจารณาข้อมูล ทั้งจากของกรมชลประทาน และการศึกษาเรื่องความหลากหลายของสัตว์ป่าหายาก ที่เสนอเข้ามา พบว่ายังมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งโครงการที่ศึกษามานานแล้ว จึงต้องอัปเดต ทั้งเรื่องข้อมูลน้ำ รูปแบบฝน สภาพพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เกษตร 4,000-5,000 ไร่ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ

ที่ประชุมยังไม่มีมติเพิกถอนพื้นที่ป่าดอยภูนาง และให้ตั้งคณะกรรมการชุดเล็ก 1 ชุดระหว่างกรมอุทยานฯ และกระทรวงเกษตร เบื้องต้นให้นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัด ทส.รับผิดชอบ  

สั่งตีกลับทบทวนข้อมูล-ตั้งกรรมการอีก 1 ชุด 

ปลัดทส.กล่าวอีกว่า การตั้งคณะกรรมการชุดเล็กอีก 1 ชุดจะต้องกลับไปทบทวนข้อมูลต่างๆที่มีความขัดแย้งกันในทุกมิติ ทั้งเรื่องของสัตว์ป่าหายากในพื้นที่ เช่น นกยูง ชะมดแผงหางปล้อง ที่อาศัยในพื้นที่ป่าอุทยานดอยภูนางว่าสิ่งที่จะได้คุ้มค่าหรือไม่ สร้างแล้วประโยชน์กับประชาชนจริงหรือไม่ รวมทั้งมีทางเลือกอื่นๆในโครงการเพื่อลดการสูญเสียป่า เช่น  ลดขนาดการขอใช้พื้นที่ ขยับแนว หรือใช้น้ำบาดาล 

ข้อมูลที่ศึกษายังไม่ตรงกัน ให้กลับไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งกรมชลประทาน ระบุว่ามีการเสนอขอตั้งงบในปี 67 จึงยังมีเวลาที่จะนำเสนอข้อมูลใหม่ ตอนนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้ หรือไม่ให้คำว่าให้คือการเพิกถอน ซึ่งตอนนี้ยังไม่พิจารณา 

ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคเสถียร โพสต์เฟซบุ๊ก ศศิน เฉลิมลาภ ระบุว่าเรื่องสำคัญในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติวันนี้ พร้อมที่มีการขีดเส้นวาระการพิจารณาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติดอยภูนางเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จากนั้นมีเขียนคอมเม้นต์หลังการประชุมว่า

คณะกรรมการมีมติยังไม่ให้เพิกถอนพื้นที่ และตั้งคณะทำงานศึกษาทางเลือกร่วมกัน
ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

พบสัตว์ป่าหายากในพื้นที่เสนอเพิกถอน 

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้หยิบกรณีการจับตาวาระการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนางบางส่วน เนื้อที่ 397 ไร่ เพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) แม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา โดยระบุว่าพื้นที่ที่จะนำมาสร้างอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังที่มีความสมบูรณ์ และตามริมลำน้ำเป็นป่าเบญจพรรณ พบไม้มีค่าที่สำคัญ บริเวณน้ำท่วมถึงอยู่ในลำน้ำแม่เมาะ สองฝั่งลำน้ำมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้ใหญ่และลูกไม้ขึ้นอยู่จำนวนมาก พบร่องรอยสัตว์ป่าที่สำคัญหากินตลอดลำน้ำ

โดยเฉพาะนกยูง ที่มีสถานะความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ จากธรรมชาติ พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและสำคัญของนกยูง เนื่องจากนกยูงเลือกใช้พื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยแม่เมาะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย หาอาหาร เกี้ยวพาราสี ผสมพันธุ์ พื้นที่ทำรังวางไข่ พื้นที่เลี้ยงลูก และพื้นที่พักนอนในเวลากลางคืน

ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

ภาพ: Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยาน

 

นอกจากนี้ยังเป็นหย่อมป่าขนาดใหญ่ซึ่งไม่ถูกบุกรุกแผ้วถางจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในสภาวะโลกปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยและภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าโดย Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ สามารถพบนกยูงได้ทุกวัย ตั้งแต่ตัวผู้และตัวเมียโตเต็มวัย วัยรุ่น และที่สำคัญคือแม่และลูกๆ นกยูง

จากการเก็บข้อมูลของนักวิจัยตลอดระยะเวลา 2 ปีในทุกช่วงฤดูกาลพบนกยูงตั้งแต่ขนาดที่ฟักออกจากไข่ได้ไม่นานนัก หากมีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะเกิดขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะสูญหายไป


 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง