ส.อาหารสัตว์ขอรัฐระงับส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลือง

เศรษฐกิจ
20 มี.ค. 65
11:45
862
Logo Thai PBS
ส.อาหารสัตว์ขอรัฐระงับส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนภายในประเทศ

วันนี้ (20 มี.ค.2565) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ส่งจดหมายด่วนที่สุดถึง อธิบดีกรมการค้าภายใน และ สำเนาถึง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รมว.พาณิชย์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาทบทวนนโยบายส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลืองไปยังต่างประเทศ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระบุว่า ไทยพึ่งพิงการนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 95 และยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาเสริมส่วนที่ขาดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกจำนวนมาก

แต่ภาครัฐยังคงนโยบายอนุญาตให้ส่งออกข้าวโพดได้อย่างเสรี และส่งออกกากถั่วเหลืองได้ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ทั้งที่ผลผลิตเหล่านี้ขาดแคลน ขณะเดียวกันการอนุญาตให้ส่งออกกากถั่วเหลือง ขัดแย้งกับข้อตกลงที่ร้องขอให้โรงงานอาหารสัตว์ทำสัญญารับซื้อกากถั่วเหลืองภายในประเทศก่อน

สมาคมฯ จึงมองว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบตัวเลขปริมาณการส่งออกวัตถุดิบทั้ง 2 รายการ จากกรมศุลกากรพบว่าในปี 2564 มีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 93,615 ตัน เฉพาะช่วงเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ส่งออกรวมกันถึง 65,930 ตัน และในส่วนของกากถั่วเหลืองตลอดปี 2564 มีการส่งออกถึง 103,091 ตัน

นายพรศิลป์ กล่าวว่า หากยังคงนโยบายนี้อยู่จะส่งผลต่อราคาขายภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างปกติ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองจะยิ่งแพงขึ้นไปอีก จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาระงับการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์วิกฤตจะคลี่คลายลง

และแม้มติประชุมคณะแนวทางแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว ถึงสิ้นเดือน ก.ค. แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ผู้ประกอบการจะหาวัตถุดิบนำเข้ามาได้ เพราะปัญหาสงครามทำให้ผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น ฮังการี อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ประกาศนโยบายห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ

นอกจากนี้เคยมีการร้องเรียนให้ภาครัฐตรวจสต็อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผู้ค้าคนกลางเพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบได้ แต่ภาครัฐกลับตรวจสต็อกของโรงงานเสียเอง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะตามระเบียบต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทุก10 วันอยู่แล้ว จึงเป็นการบรรเทาปัญหาที่ไม่ถูกจุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง