เตรียมทำใจ! เดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ อะไรแพงขึ้นบ้าง?

เศรษฐกิจ
21 มี.ค. 65
19:41
1,402
Logo Thai PBS
เตรียมทำใจ! เดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ อะไรแพงขึ้นบ้าง?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เตรียมทำใจ ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงาน ต้นทุนพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น จนกลายเป็นตัวแปรให้สินค้าในชีวิตประจำวันกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเดือนเม.ย.นี้ กลุ่มก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าจ่อปรับราคา

สงครามรัสเซียยูเครน ทำให้เกิดภาวะสินค้าแพงขึ้นทั้งทางตรง เช่นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ แม่ปุ๋ย ทางอ้อม อย่างน้ำมัน ก๊าซ แต่สำหรับไทยสินค้าอุปโภคบริโภค ทยอยปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทยอยขึ้นแบบเงียบๆ ก็มี ขึ้นแบบประกาศให้รู้ถ้วนหน้าก็มี

น้ำมันปรับขึ้นนิ่มๆ มาต่อเนื่องจากความต้องการใช้ในตลาดโลกที่สูงกว่ากำลังผลิตเล็กน้อย ส่งผลถึงราคาในไทยเทียบกับปลายปีกลุ่มเบนซินปรับขึ้นเกือบเท่าตัว ไม่กล้าใส่ราคาพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) ปรับขึ้นอีก 60 สตางค์ ยกเว้นดีเซลที่ยึดนโยบายตรึงราคาไม่เกิน 30 บาท

น้ำมันปาล์มขวด ที่ปัญหาภัยแล้งทำให้สำรองน้ำมันลดลง ราคาจากที่เคยอยู่ประมาณ 48 บาทปรับเป็น 55 60 และ 70 บาทก็มี ส่วนเนื้อหมู สูงก้าวกระโดดเพราะปัญหาโรคระบาดแอฟริกาสุกร ปัจจุบันปรับลงมาบ้าง แต่ก็ยังสูง

 

ในเดือนมี.ค.นี้มีสินค้าหลายรายการแพงขึ้น เช่น เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งปรับขึ้น 2 บาท หรือ 20%  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายปลีกบางยี่ห้อ ปรับราคา 50 สตางค์ ส่วนราคาขายส่งบางยี่ห้อปรับขึ้นสำเร็จผู้ค้าคนกลาง 10-15 สตางค์ต่อซอง แต่ไม่ปรับราคาขายปลีก ขณะที่สบู่ก้อนแพงขึ้นจากราคาน้ำมันปาล์ม

สงครามรัสเซียยูเครนส่งผลโดยตรงต่อราคาโลหะแพงขึ้น ส่งผลถึงบรรบุภัณฑ์ประเภท อาหารกระป๋อง นมข้นกระป๋อง น้ำอัดลมกระป๋อง แพงขึ้น เจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มย่านเสนานิคม บอกว่า 

ราคาของขึ้นทุกอย่างเลย วัตถุดิบที่นำมาทำเครื่องดื่ม ขึ้นตั้งแต่ต้นทางจากราคาการขนส่งน้ำมันแพงด้วย เช่น นมข้น นมสดลังหนึ่งขึ้นราคาประมาณร้อยกว่าบาท

 

การชะลอส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบแพงขึ้นมาก กรณีข้าวสาลี แพงขึ้น 51% เทียบกับปีที่แล้ว กากถั่วเหลืองแพงขึ้น 36% ข้าวโพดแพงขึ้น 26% ยกตัวอย่างอาหารไก่ไข่สูตร 17 โปรตีน ปรับจาก 10 บาท เป็น 14 บาทกว่า ปรับขึ้นมา 38%

เมื่อต้นทุนเลี้ยงไก่สูงขึ้น ไข่ไก่กำลังมีการทบทวนต้นทุนใหม่วันพรุ่งนี้ ผู้ผลิตไข่ไก่รายหนึ่งมองว่าราคาไข่คละหน้าฟาร์มอาจขยับเป็นฟองละ 3 บาท 80 สตางค์ หรืออาจจะถึง 4 บาท หมายถึงราคาขายปลีกที่จะแพงกว่านี้ นี่เป็นสิ่งที่สัปดาห์นี้จะได้ทราบความคืบหน้า

ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้มขึ้นราคากระทบระดับครัวเรือน

นอกจากนี้ ที่ต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า คือก๊าซหุงต้มที่จะปรับราคาเดือนหน้า หากสงครามยืดเยื้อ ราคาพลังงานยังสูง การปรับขึ้นครั้งต่อไปกิโลกรัมละ 1 บาทก็จะได้เห็น เดือนถัดไปพ.ค.นี้ ต้องรับกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากกว่าที่เคยคำนวณเอาไว้ เป็นผลพวงทางอ้อมจากสงครามเช่นกัน เรื่องนี้กระทรวงพลังงานประกาศเตรียมใจกันล่วงหน้าแล้ว

แต่แนวโน้มไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายสูงขึ้น ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ มองว่าค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น มาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของภาครัฐ ไม่ใช่จากภาวะสงครามเป็นหลัก และเสนอให้เปิดทางประชาชนผลิตไฟฟ้าขายได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้า ของการระบบผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินระบบ มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 15%เป็น 50% ภาระค่าความมพร้อมจ่ายค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ไทยมีรัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรรายเดียว รัฐควรมีเพดานราคาที่สอดคล้องเป็นธรรมกับค่าครองชีพของประชาชน  

นี่เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างสินค้าค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นแล้วและกำลังจะแพงขึ้น นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ อาจารย์สมชัย จิตสุชน บอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนจะมองว่าของแพงไม่หยุด ก็ยิ่งกักตุนสินค้า ทำให้ของยิ่งแพงขึ้น จนรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย นำมาสู่เรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง