"ศิริราช" ปลูกถ่ายลำไส้-อวัยวะในช่องท้องสำเร็จ รายแรกในไทย

สังคม
22 มี.ค. 65
11:40
967
Logo Thai PBS
"ศิริราช" ปลูกถ่ายลำไส้-อวัยวะในช่องท้องสำเร็จ รายแรกในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประวัติศาสตร์! ศูนย์ปลูกถ่ายตับศิริราช จัดแถลงข่าว ศิริราชปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้อง สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยกระบวนการต้องปลูกถ่าย 4 อวัยวะพร้อมกัน และต้องรอลำไส้จากผู้บริจาคที่เหมาะสมนาน 2 ปี

วันนี้ (22 มี.ค.2565) ศูนย์ปลูกถ่ายตับศิริราช จัดแถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้อง... สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย” ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า วันนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในการเปลี่ยนอวัยวะ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในประเทศไทย "ดูเหมือนว่าง่าย แต่ไม่ง่ายเลย" แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนอวัยวะจำนวนมาก แต่การเปลี่ยนลำไส้ยังทำได้ไม่ถึง 200 เคสต่อปีที่จะประสบความสำเร็จ วันนี้ศิริราชจะมานำเสนอให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าที่อื่น และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยด้วย

ขณะที่ รศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร หวัหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ระบุว่า ศูนย์ปลูกถ่ายตับศิริราช ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 โดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาวิชาชีพมาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนอวัยวะเป็นจุดเด่นของศิริราชพยาบาล

เราไม่ต้องการเป็นรายแรกของประเทศไทย แต่ต้องการให้ประเทศไทยเทียบเคียงศักยภาพสากล 

สำหรับคนไข้รายนี้ มีเนื้องอกบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น หลังผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรก พบว่า คนไข้มีภาวะเส้นเลือดดำลำไส้อุดตัน ทำให้ลำไส้ขาดเลือดหรือเน่าตาย ศัลยแพทย์จึงต้องผ่าตัดยกของเสียออก เพื่อไม่ให้คนไข้ติดเชื้อ ทำให้คนไข้เหลือเพียงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

เมื่ออาหารลงมาแล้ว ไปต่อไม่ได้ ด้วยคนไข้มีแผลอยู่ที่ท้อง มีรูอยู่ที่กระเพาะอาหาร จึงอยู่ไม่ได้ แพทย์ต้องให้สารอาหารผ่านเส้นเลือดดำ ทำให้คนไข้อยู่รอดมาได้


อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2561 ทีมศิริราชพยาบาล ขออนุญาตกับโรงพยาบาลเจ้าของไข้ เพื่อหารือกับกรณีดังกล่าว แล้วมีความเห็นว่า ทางเดียวที่จะให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ คือการปลูกถ่ายลำไส้ ผู้ป่วยจึงย้ายมาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี 2562

รอ "ลำไส้" นาน 2 ปี ก่อนปลูกถ่ายครั้งประวัติศาสตร์

ขณะที่ รศ.นพ.เวธิต ดำรงกิตติกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ระบุว่า หลังจากคนไข้ย้ายมา มีการประเมินโดยละเอียด พบว่า นอกจากมีภาวะลำไส้สั้น ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และมีแผลฉกรรจ์ที่หน้าท้อง จึงทำให้มีน้ำย่อยออกมาตลอดเวลา จึงรักษาเบื้องต้น เพื่อเชื่อมอวัยวะต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่เข้าด้วยกัน และปิดแผลหน้าท้องให้ดูแลง่ายขึ้น และลดความเจ็บปวดให้น้อยลง หลังการผ่าตัด พบว่า คนไข้ฟื้นตัวค่อนข้างดี มีกำลังใจมากขึ้น

ผู้ป่วยขาดอวัยวะกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน และตับทำงานไม่เป็นปกติ ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดี คือ การปลูกถ่ายอวัยวะหลายอวัยวะด้วยกัน

ผศ.นพ.ประวัฒน์ โฆสิตะมงคล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ระบุว่า เมื่อประเมินว่าคนไข้จำเป็นต้องปลูกถ่ายอวัยวะ ทีมแพทย์ได้ลงทะเบียนจัดสรรอวัยวะจากสภากาชาดไทย ซึ่งลำไส้ เป็นอวัยวะที่เปราะบาง และทนกับการขาดเลือดได้ไม่นาน จึงต้องเข้มงวดกับผู้บริจาค

สำหรับผู้บริจาคต้องเป็นผู้ป่วยสมองตายที่มีกรุ๊ปเลือดตรงกับคนไข้ มีการทำงานของอวัยวะในช่องท้องปกติ มีสัญญาณชีพที่ดี และอยู่ในโรงพยาบาลที่เดินทางได้สะดวกและใกล้โรงพยาบาลศิริราช เมื่อมีเกณฑ์ที่เข้มงวด จึงทำให้คนไข้และทีมแพทย์ต้องรอผู้บริจาคที่เหมาะสมสนานกว่า 2 ปี

ผศ.นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ระบุว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้เล็กไม่เคยมีมาก่อนในไทย ดังนั้น จึงต้องมีการประสานงานในการเตรียมการผ่าตัด ตั้งแต่การตัดอวัยวะจากผู้บริจาคว่าต้องตัดเส้นเลือดอย่างไรจึงจะเหมาะสม ผ่าตัดจากต้นทางเวลาใด เพื่อลดเวลาที่อวัยวะขาดเลือดให้สั้นที่สุด นอกจากนี้ ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก ดังนั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาในการปฏิเสธอวัยวะสูงกว่าอวัยวะอื่น ๆ จึงต้องใช้ยากดภูมิสูงกว่าอวัยวะอื่น ๆ

ลำไส้เล็กไม่สามารถตรวจจากเลือดได้ว่ามีการปฏิเสธอวัยวะหรือไม่ จึงต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเป็นระยะ ๆ และต้องเตรียมกระบวนการถึงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

เปิดใจครั้งแรก ปลูกถ่ายอวัยวะเปลี่ยนชีวิต 

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าว คนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายลำไส้-อวัยวะในช่องท้องสำเร็จ รายแรกในไทยได้เดินทางมาเปิดใจเป็นครั้งแรกบนเวทีด้วย พร้อมระบุว่า ช่วงที่มีอาการป่วยรู้สึกรับตัวเองไม่ได้ จากคนที่เคยมีครบทุกอย่าง อะไรที่เคยทำได้ง่าย ๆ ก็ทำได้ยากไปหมด 

คนเราสามารถอิ่มได้ กินข้าวแล้วกลืนได้ อยากกินอะไรก็กินได้ แต่เราทำไม่ได้ การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง


ช่วงแรก ๆ คิดว่าจะไม่สู้แล้ว แต่ทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงคนใกล้ชิดก็ให้กำลังใจมาตลอด และศิริราชพยาบาลก็มีทางเลือกคือการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเข้ามา เหมือนเป็นแสงให้รู้ว่ายังมีทางให้เดินต่อในชีวิตที่มืดมน ก็ทำให้เริ่มปรับตัวไปเรื่อย ๆ เพื่อฟื้นฟูตัวเอง จากทำได้เพียงกระดิกศีรษะอย่างเดียว ก็เริ่มเดินได้

ก่อนหน้านี้ที่เราเริ่มหมดหวัง หมอทุกคนก็สู้สุดกำลัง หมอบอกว่า หมอสู้แล้ว ทำไมหนูไม่สู้ ก็ทำให้หนูต้องสู้ ขอบคุณทุก ๆ คนที่ให้กำลังใจ และทำให้มีวันนี้

ทั้งนี้ สำหรับารค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด สิทธิการรักษาปลูกถ่ายอวัยวะครอบคลุมหลายสิทธิ ทั้งกรมบัญชีกลาง และสิทธิ 30 บาท ซึ่งทางโรงพยาบาลจะใช้สิทธิที่ติดตัวคนไข้ก่อน ขณะเดียวกันปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราช ได้ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงการใช้ยากดภูมิระยะยาว โดยมีคณะกรรมการ และนักสังคมสงเคราะห์ ช่วยให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้  

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง