รู้จัก "อาการใหลตาย" ภัยเงียบหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายถึงชีวิต

สังคม
24 มี.ค. 65
06:18
8,309
Logo Thai PBS
รู้จัก "อาการใหลตาย" ภัยเงียบหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายถึงชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "อาการใหลตาย" ภัยเงียบหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายถึงชีวิต มักพบในเพศชายวัย 25-55 ปี แพทย์แนะลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ เพื่อเลี่ยงเกิดอาการใหลตายขณะนอนหลับ

จากกรณีวงการบันเทิงสูญเสีย บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ พระเอกซีรีส์เคว้ง เสียชีวิตด้วยวัย 25 ปี ซึ่งการเสียชีวิตเป็นการเสียชีวิตแบบนอนหลับไป ทางครอบครัวได้นำตัวส่งโรงพยาบาล และพยายามกู้ชีพแต่ไม่สำเร็จ

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน! “บีม ปภังกร” นักแสดงซีรีส์เคว้ง เสียชีวิต)

สำหรับการนอนหลับไปแล้วเสียชีวิตนั้น เรียกอีกอย่างว่า "อาการใหลตาย" โดย พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า อาการใหลตายเกิดจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว

สำหรับความผิดปกติมักพบในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตถ้าการเต้นผิดจังหวะของหัวใจนั้นเกิดนานพอและไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตฟื้นขึ้นมาได้กรณีที่การเต้นผิดจังหวะของหัวใจหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมอันได้แก่ การช็อกหัวใจหรือการปั๊มหัวใจ 

นอกจากใหลตายจะพบบ่อยขณะที่ผู้ป่วยหลับแล้ว ก็ยังอาจพบได้ในขณะตื่นเช่นกัน โดยอาการที่เกิดอาจเกิดอาการใจสั่นช่วงสั้น ๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้

ทั้งนี้ อาการใหลตายมักพบในเพศชายวัยทำงาน (อายุ 25-55 ปี) แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง ในเด็ก หรือในผู้สูงอายุได้เช่นกันสำหรับในประเทศไทย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองลงมาในภาคเหนือ

 ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการใหลตาย

ขณะที่ข้อมูลจาก รศ.พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจัยส่งเสริมทำให้ผู้ป่วยมีพันธุกรรมโรคใหลตายเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิต ประกอบด้วย การเป็นไข้สูง, การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การใช้ยานอนหลับ รวมถึงการขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม

ขณะที่การรักษา ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงควรลดและเลี่ยงปัจจัยส่งเสริม เช่น ถ้ามีไข้สูง ควรใช้ยาลดไข้ ลดและเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การฝังเครื่องกระตุกหัวใจเข้าไปในร่างกายได้

เมื่อพบผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายโรคดังกล่าว ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  • จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาล

  • ประเมินผู้ป่วย หากไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุดในความถี่ราว 100 ครั้ง/นาที จนผู้ป่วยรู้ตัว

  • ไม่ควรงัดปากคนไข้ด้วยของแข็ง เพราะอาจเป็นอันตรายและระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจที่อาจเป็นต้นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง