แพทย์แนะเด็กเป็นโรคร้ายแรงฉีดวัคซีน-โอมิครอนทำเด็กติดเชื้อ 2 เท่า

สังคม
24 มี.ค. 65
16:19
2,641
Logo Thai PBS
แพทย์แนะเด็กเป็นโรคร้ายแรงฉีดวัคซีน-โอมิครอนทำเด็กติดเชื้อ 2 เท่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์แนะเด็กที่เป็นโรคร้ายแรงมาฉีดวัคซีนโควิด-19 พบสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เด็กติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่า ขณะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุเปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล เพื่อให้เข้ามีส่วนร่วมดูแลรักษาลูกจากโควิด-19 ที่บ้าน

วันนี้ (24 มี.ค.2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคโควิด-19 ในเด็ก พบว่าเด็กที่แข็งแรงจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ซึ่งในช่วงนี้วินิจฉัยยาก เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่

สำหรับอาการของเด็กติดโควิด-19 ที่ต้องพาไปโรงพยาบาล ได้แก่ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ภายใน 24 ชั่วโมง มีอาการซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว และมีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วน้อยกว่า 96%

ส่วนสถานการณ์เด็กติดเชื้อโควิด-19 จากการรายงานของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 ธ.ค.2564 พบว่ามีเด็กติดเชื้อ 312,635 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 30,000 คน ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 20 มี.ค.2565 พบว่ามีเด็กติดเชื้อ 183,443 คน

หรือเฉลี่ยเดือนละ 60,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า พบว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 500,000 คน เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เด็กติดเชื้อได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้า ในช่วงปีที่แล้ว

กลุ่มเสี่ยงโควิดที่อาการรุนแรง

สำหรับกลุ่มเสี่ยงเด็กติดโควิด-19 ที่อาการรุนแรง ได้แก่ เด็กที่มีโรคร่วม หรือมีความผิดปกติ ดังนี้ 1.โรคอ้วน 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลาง หรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ

6.โรคเบาหวาน และ 7. กลุ่มโรคพันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า ซึ่งควรจะมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคได้บ้างบางส่วน ขณะที่สถานการณ์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี พบว่าฉีดเข็มที่ 1

จำนวน 1,859,733 โดส หรือคิดเป็น 36.1% ส่วนเข็มที่ 2 จำนวน 30,033 โดส หรือคิดเป็น 0.6%

เปลี่ยนแม่เป็นหมอ ช่วยดูแลเด็ก

ด้าน พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 90% อยู่ในกลุ่มสีเขียว สำหรับตัวเลขเด็กที่รักษาในสถาบันฯ 900 คน มีเพียง 12 คน ที่รักษาในโรงพยาบาล หรือคิดเป็น 1.3% เท่านั้น ซึ่งวางใจได้

แต่ไม่ได้ประมาท ส่วนใหญ่จะแอดมิท 2 คืน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้น สามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ ซึ่งการเปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล นับเป็นการให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาลูกจากการติดเชื้อโควิด-19 อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ หากพ่อแม่มีความเป็นห่วงและไม่แน่ใจในอาการของลูก สามารถถ่ายคลิปวิดีโอทั้งในช่วงที่เด็กนอนหลับ หรือในช่วงที่ตื่นอยู่ มาสอบถามและปรึกษาแพทย์ผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ได้

กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก

ส่วนกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 0-21 ปี มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง ร่วมกับมีอาการอย่างน้อย 2 ระบบ คือ ผื่น ตาแดง หรือมีอาการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ, ความดันโลหิตต่ำ หรือช็อก, มีอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด

มีภาวะเลือดออกง่ายจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร, มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ, โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด, มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เยื้่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอาการไตวายฉับพลัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง