รอลุ้น! หลังสงกรานต์ ชงยกเลิก Thailand Pass คาดเริ่ม 1 มิ.ย.นี้

สังคม
25 มี.ค. 65
11:54
6,789
Logo Thai PBS
รอลุ้น! หลังสงกรานต์ ชงยกเลิก Thailand Pass  คาดเริ่ม 1 มิ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พิพัฒน์" รมว.ท่องเที่ยวฯ เตรียมเสนอ ศบค.ยกเลิก Thailand Pass หวังดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย คาดอย่างเร็วเริ่ม 1 มิ.ย.นี้ โดยต้องดูเงื่อนไขช่วงสงกรานต์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในไทยต้องไม่เกิน 50,000-60,000 คนต่อวันรวม ATK เสียชีวตไม่เกิน 100 คนต่อวัน

วันนี้ (25 มี.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รวม 26,050 คน ผู้ป่วยสะสม 1,253,595 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 22,219 คน หายป่วยสะสม 1,039,777 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษา 244,111 คน เสียชีวิต 69 คน และผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,619 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 21 คน และมีอัตราครองเตียง ร้อยละ 26.9

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่หลังเทศกาลสงกรานต์ว่าจะให้ในเดือน พ.ค.ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติม 

อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก Thailand Pass ใช้แทน COE รับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.

ชงเสนอยกเลิกไทยแลนด์พาสคาดเริ่ม 1 มิ.ย.นี้

รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า โดยมาตรการนี้จะให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย และเปลี่ยนมาใช้วิธีการตรวจด้วย ATK โดยสถานพยาบาลรับรองผลการตรวจแทน เมื่อผลตรวจเป็นลบถึงจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้

โดยเริ่มวันที่ 1 พ.ค.นี้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จะต้องไม่มีการกระเพื่อมของยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่รุนแรง คือยังรักษาระดับยอดผู้ติดเชื้อที่ไม่เกิน 50,000-60,000 คนต่อวัน รวมยอดผลตรวจ ATK เป็นบวก และยอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน

จะเสนอให้มีการยกเลิกไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) คาดหวังเริ่ม 1 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น คือการเดินทางเข้าประเทศไทยจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 ไม่ต้องลงทะเบียนว่าจะเดินทางเป็นนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go แซนด์บ็อกซ์ และกักตัว

 

ทั้งนี้ตามหลักการควรจะไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่เพื่อความอุ่นใจของคนไทย ควรจะมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ในวันแรกที่เดินทางมาถึง

สำหรับเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คาดหวังว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน และมีการฟื้นตัวด้านรายได้การท่องเที่ยวของปีนี้อยู่ที่ 30% ของรายได้การท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ส่วนในปี 2566 รายได้ฟื้นตัว 50% และในปี 2567 รายได้ฟื้นตัว 100% เท่าปี 2562

มส.ออกมาตรการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการถนนคนเดินหลายจังหวัด เรียกร้องให้ ศบค.พิจารณาผ่อนปรนพื้นที่จัดกิจกรรมให้เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เหมือนที่เคยทำได้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอเรื่องให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาให้เล่นน้ำได้ตามประเพณี ซึ่งมติที่ประชุมของ ศบค.วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาชัดเจนแล้ว

ส่วนหน่วยงานอื่นหากจะขอยกเว้น ต้องเสนอเรื่องถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม.จากนั้นให้ส่งเรื่องถึง ศปก.ศบค.หรือ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุม ศบค.ต่อไป ขณะนี้ยังมีเวลาเสนอเรื่องให้พิจารณาตามกลไกกระบวนการ

 

ขณะที่ นายสมบัติ พิมพ์สอน ผอ.สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม ได้เห็นชอบมาตรการการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ โดยขอความร่วมมือวัดทุกวัด เฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อต่อผู้เข้าร่วมประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ให้พิจารณาจัดศาสนพิธี และส่งเสริมโบราณประเพณีในวัดแบบวิถีใหม่ สอดคล้องกับมาตรการควบคุมโรค เช่น การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ กำหนดจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ อย่างเคร่งครัด

กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับขนาดของสถานที่จัดกิจกรรม สถานที่จัดกิจกรรมต้องเป็นสถานที่โปร่งหรือกลางแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก กิจกรรมที่จัดต้องเป็นไปเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เช่น การสรงน้ำพระ การรดน้ำผู้สูงอายุ และจะต้องคำนึงถึงคำสั่งหรือมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของจังหวัดหรือท้องที่นั้นๆ เป็นสำคัญ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อนักท่องเที่ยวถึงไทย ต้องทำอย่างไร?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง