เครือข่ายเชียงใหม่ระดมปลดทุกข์คนติดโควิด รับมือความเสี่ยงรอบใหม่

สังคม
26 มี.ค. 65
13:24
3,510
Logo Thai PBS
เครือข่ายเชียงใหม่ระดมปลดทุกข์คนติดโควิด รับมือความเสี่ยงรอบใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ร้องปลดทุกข์คนเชียงใหม่ที่ติดโควิด ระบุมาตรการเหลื่อมล้ำ ผลักภาระให้ประชาชนแบกค่าใช้จ่าย ไม่มีระบบชัดเจนทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อ การได้รับประกัน การตรวจซ้ำ เครือข่ายต้องรวมตัวกันเองเพื่อรับมือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

วันนี้ (25 มี.ค.2565) ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ กลุ่มภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ ในนาม Covid Team North (CTN) แถลงเรียกร้องให้จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อุดช่องว่างระบบมาตรการรักษา และการสื่อสารความเข้าใจเรื่องโควิด พร้อมร้องให้ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการต้องดูแลตนเอง

ภาครัฐเร่งปรับแนวทาง ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนก็เข้าใจได้ว่าต้องทำ แต่ควรมีมาตรการที่ชัดเจน ไม่ใช่มองไม่เห็นปัญหา และปล่อยให้ประชาชนเผชิญกันเอง

ทีม COVID Team North เปิดเวทีแถลงข่าว ก่อนลงรายละเอียดถึงมาตรการที่ไม่ชัดเจนของหน่วยงานและข้อจำกัดในการเข้าถึงยา อุปกรณ์การรักษาโรคโควิด-19 จนกลายเป็นความทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด

สร้างเครือข่ายช่วยเหลือชุมชนรับมือโควิด

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทีม CTN เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ ที่เห็นการระบาดโควิด-19 หนักมากมาตั้งแต่กรกฎาคม 2564 ซี่งมีประกาศปิดชุมชน แคมป์แรงงานต่าง ๆ ในเชียงใหม่ และได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า

เช่น ให้ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย นมผง ของใช้ที่จำเป็นในเขตอำเภอต่าง ๆ ที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเช่น คนไร้บ้าน พนักงานบริหาร แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นลักษณะการช่วยเหลือกันในองค์กรเครือข่าย และประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการของภาครัฐบางหน่วย เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ (สปสช.)

และรับเรื่องร้องทุกข์และประสานงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ในฐานะเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระฯ ตามมาตรา 50(5) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรเครือข่ายพบความทุกข์ในหลายแง่มุม

ชุมชนแออัดเสี่ยงการระบาดมากขึ้น

นันทชาติ หนูแก้ว จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงทุกข์ของคนในชุมชนแออัด และบุคคลสาธารณะ เมื่อติดโควิด ว่า มี 2 เรื่องหลัก คือ

1.นโยบายหรือมาตรการของรัฐไม่ชัดเจน มีผลต่อคนในชุมชน ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะในชุมชนเมือง แคมป์ก่อสร้างได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการการรักษาในช่วงแรก พยายามให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาของรัฐที่มีอยู่ แต่ต่อมาเมื่อโรงพยาบาลเริ่มเต็ม ก็ให้ประชาชนกักตัวในชุมชน หรือในบ้านเอง ทำให้บางชุมชนตั้งรับไม่ทัน เกิดความสับสน

มาตรการด้านที่อยู่อาศัยระยะยาว ด้วยลักษณะของกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนแออัดในเมืองเชียงใหม่ และคนไร้บ้านพบว่า จำนวนหนึ่งไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และลักษณะของชุมชนแออัด ทำให้การระบาดแพร่กระจายได้ง่าย

รัฐไม่มีนโยบายเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้าน และด้วยลักษณะวิถีชีวิตของคนจนเมืองอยู่แบบ หาเช้ากินค่ำ วิถีชีวิตผูกกับรายได้แบบวันต่อวัน มาตรการเรื่องการกักตัวผู้เสี่ยงสูง บางหมู่บ้านปิดชุมชน ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องของการกินอยู่ ค่าใช้จ่ายรายวัน

2.ความไม่เชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถจัดการระบบได้ ที่ผ่านมา 2 ปี ภาคประชาชนและชุมชนแสดงให้เห็นว่า สามารถจัดการระบบ โดยมีอาสาสมัครคอยประสานชุมชน รวมตัวเป็นเครือข่ายจัดการได้ เช่น

- การสร้างกลไกเข้าถึงระบบการรักษา อาสาสมัครการเข้าถึงระบบการรักษา การเข้าถึงและดูแล ยา อาหาร การติดตามอาการโดยเฉพาะกลุ่ม 608
- ชุมชนมีรูปแบบในการช่วยเหลือกัน ในการดูแลกัน ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแล บทบาททางภาครัฐควรเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องของการจัดการเพื่อให้รับมือให้ได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าจะไม่เชื่อมั่น

ทำประกันก็ไม่รับประกันว่าจะได้เงิน

รจนา ยี่บัว จากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเฮลท์เนท กล่าวถึงทุกข์ของคนซื้อประกันโควิด ว่า อันดับแรกคือคนที่ซื้อประกันโควิดถูกยกเลิก พอทำประกัน 3-4 เดือน บางบริษัทไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่ายกเลิก เมื่อเกิดการติดโควิดและจะเคลมก็ไม่สามารถทำได้ เงียบหาย

ชาวบ้านบางรายคิดจะทำร้ายตัวเอง เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม บางรายที่ติดแล้วอยากยืนยันผล เพื่อยื่นเอาประกัน แต่เมื่อติดต่อโรงพยาบาล กลับมีค่าใช้จ่าย และเมื่อไม่มีเงินในการยื่นรับผลตรวจประกัน ไม่สามารถเดินหน้าให้เงินประกันได้ สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ และแทนที่จะได้รับการเยียวยาแต่กลับไม่ได้รับ

นอกจากนั้นยังพบว่า ประชาชนขาดความรู้ในการยื่นเรื่องประกัน ช่องทางในการรู้สิทธิ และร้องเรียน และอีกปัญหาที่พบคือเรื่องการฉีดวัคซีนแล้วได้รับผลกระทบและขั้นตอนขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้น จาก สปสช. ซึ่งหน่วยงานสภาองค์กรผู้บริโภคเชียงใหม่จะเป็นผู้ช่วยเหลือภาคประชาชนในตอนนี้

โอกาสตรวจซ้ำมีน้อยทั้งที่ต้องการ

อัจฉราพร ชนะเลิศ ประธานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ในชุมชน “ทุกข์ของคนประกันสังคมที่ติดโควิด” กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้น มีประกาศให้ประชาชนไปรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ ต่อมาให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ประกันสังคม ต้องกลับไปโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคม

แต่ต่อมาโรงพยาบาลรับแต่เคสหนัก หรือสีแดง หรือหากต้องการตรวจผลแบบ RT-CPR ซ้ำ หลายคนไม่สามารถจ่ายไหวเพราะมีราคาสูง ทั้งที่ประชาชนหลายคนอยากจะตรวจซ้ำ เพราะไม่มั่นใจในการตรวจแบบ ATK ทำให้ผู้ประกันตน ต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเองเพื่อให้ตนเองได้รับยา และมีที่พักในการรักษาตัว บางรายอาการไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำหนด ก็จะให้กลับบ้าน

ช่วงที่โควิดระบาดหนักในชุมชนเมือง ภาระหลักเป็นของอาสาสมัครในชุมชนที่ต้องทำการจัดทีมลงไปดูแลกันเอง ให้ความรู้ และให้ประชาชนที่ติดเชื้อเชื่อมั่นว่าเราจะเคลียร์ปัญหาให้เขาได้

อีกประเด็นประกันสังคมมาตรา 33 ต้องเข้าในระบบตามข้อกำหนดในการเป็นลูกจ้างบริษัท ส่วนมาตรา 39 คือการชำระค่าประกันสังคมด้วยตนเอง จนช่วงหลังผู้ที่ติดโควิดอยากออกจากระบบมาตรา 39 จะเข้ามาตรา 40 หากอายุไม่เกิน 65 เพราะทางรัฐและบัตรทองมีมาตรการ เจอ จ่าย แจก แต่หากสิทธิประกันสังคมต้องไปรอคิวหรืออยู่ที่บ้านรอเจ้าหน้าที่โทรกลับไปแล้วรอรับยา สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า โรงพยาบาลยังคงมีเรื่องของมาตรฐานและการดูแลที่ไม่เท่ากันอยู่

ระบบรักษาดูแลไม่ทั่วถึง-คนป่วยต้องดูแลตัวเอง

ด้าน นิวัตร สุวรรณพัฒนา นักวิชาการกลุ่มโควิดทีมภาคเหนือ กล่าวถึง “ทุกข์ของคนเชียงใหม่ภายใต้ระบบที่มีช่องว่าง” ว่า กลุ่มคนที่จะเน้นถึงคือกลุ่มในเมือง หรือกลุ่มคนจนเมือง หมายถึงคนที่อยู่ในชุมชนเมือง ประชากรข้ามชาติและผู้ติดตาม แรงงานชาติพันธุ์ และอีกกลุ่มที่คือ กลุ่ม 608 คืออายุเกิน 60 ปี มาจากกลุ่มเสี่ยง 7 โรค หัวใจ สมอง หอบ ทางเดินหายใจ เบาหวาน มะเร็ง ไต และผู้เปราะบาง สตรีตั้งครรภ์ ครัวเด็ก ผู้หญิงและ ผู้ป่วยติดเตียง

ช่องว่างของระบบดูแลสุขภาพและควบคุมโรคต่าง ๆ ก่อให้เกิดทุกข์ใหญ่ 3 เรื่อง 1.ความเจ็บปวดที่คนใกล้ชิด เสียชีวิตจากโควิด-109 และเรื่อง Long Covid - Post Covid โดยกลุ่ม 608 เกิดโอกาสเกิดความรุนแรงโดยไม่มีการติดตามอาการ

2.ประชากรทั่วไปจากการเปลี่ยนผ่าน นโยบายหรือแนวทางการรักษา ทำให้เกิดความคาดหวัง สับสน กังวล เช่น ที่คนเชียงใหม่ได้ยาต้านไวรัสมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันพอไม่ได้ยา จากแนวทาง เจอ จ่าย จบ หลายคนได้เฉพาะยาติดตามอาการ

สิ่งนี้เปิดช่องให้คลีนิคเอกชนต่าง ๆ ฉวยโอกาสในการขึ้นราคา เช่น การตรวจ RT-PCR เรียกเก็บค่ายาต้านไวรัส ในคลีนิคและโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนการใช้ ATK เกินความจำเป็น

3.กลุ่มประชาชนที่อยู่แเออัดหนาแน่น HI CI ต้องได้รับยาติดตาม อุปกรณ์ต่าง ๆ อาหาร 3 มื้อ แต่ต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือกันเองทั้งหมด

4.เมื่อบ้านหนึ่งหลัง ผู้ป่วย 1 คน กักตัว 2 คน ผลกระทบขาดรายได้ ขาดอาหาร

5.ระบบของเชียงใหม่ แนวทางการรักษาส่งเสริม HI ตั้งแต่ต้นปี ยืนยันว่าทุกคนจะต้องรักษาที่บ้าน สื่อสารไปที่อาสาสมัครเพื่อให้แนวทางการดูแล การไปสู่แนวทางที่เป็นโรคประจำถิ่นซึ่งเราต้องทำ แต่มาตรการและนโยบายไม่ชัดเจน ปล่อยให้เผชิญกันเอง เช่น ปิด CI แต่แรงงานหรือผู้ที่รักษาตัวที่บ้านอยู่ไม่ได้ และช่องทางการจ่ายยาไม่พอกับความต้องการ เป็นต้น

จัดระบบรับมือความเสี่ยงที่มากขึ้น

ด้าน สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงข้อเสนอ เร่งปลดทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด
1.การสื่อสารกับประชาชน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชนเรื่องโควิด โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีหน้าที่สื่อสารความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด

การอัพเดทข้อมูลมาตรการ แนวทาง ต่างๆ เพื่อลดความสับสน และเป็นศูนย์กลางข้อมูลชุดเดียวกัน การให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในการรับบริการรักษาต่างๆ บทบาทหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรตามสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะประกันสังคม บัตรทอง และข้าราชการ

2.ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ทั้งการตรวจ ATK และการที่โรงพยาบาลไม่จ่ายยาตามอาการ ทำให้ประชาชนต้องซื้อเอง แม้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว
2.1 การลดความสิ้นเปลืองไม่จำเป็น การตรวจ ATK ที่เกินความจำเป็น ไม่สมเหตุผล ควรยกเลิก หรือหยุดทำ
- ตรวจเด็กที่จะไปโรงเรียน /ไปสอบ
- การให้พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ตรวจเป็นประจำ
- การตรวจก่อนเข้าใช้ ห้องประชุม สำนักงาน/อาคาร หรือเข้าพื้นที่
- การให้ผู้ติดเชื้อตรวจซ้ำเพื่อเป็นการยืนยันว่าหายแล้ว
- การตรวจแบบไม่มีข้อบ่งชี้ ตรวจเพราะกังวล
2.2 การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจช่วงเวลาที่สมควรตรวจ วันที่ 5 กับวันที่ 10 ของการสัมผัสเชื้อ ไม่ใช่ตรวจทุกวัน

 

3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการให้ทุกโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง เขตเทศบาลนคร มีระบบให้บริการทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์ สำหรับคนที่อาการไม่มาก การมีช่องทางรับยาแบบแยกต่างหากสามารถไปถึงรับยากลับบ้านได้เลย

4.ให้หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด ดำเนินการเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชนผู้ซื้อประกันสุขภาพโควิด ให้มีที่ปรึกษา มีการกำกับติดตามบริษัทประกัน การให้ข้อมูลสื่อสารต่อเนื่องผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชน รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามดูแลผู้ได้รับความทุกข์ความเสียหายจากระบบประกันโควิด

5.พาณิชย์จังหวัด กำกับควบคุมราคาค่าตรวจ RT-PCR ค่าใบรับรองแพทย์ ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกัน

6.เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนผู้นำชุมชน ให้สามารถจัดเตรียมชุมชน สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในชุมชนที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างเข้าใจ จัดหาพื้นที่ในชุมชนสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแลตนเองในการกักตัวได้ ประสานงานกับวัด หน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อทำงานร่วมกัน

สำหรับ สมาชิก COVID Team North ประกอบด้วย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ (กพอ.เหนือ) และองค์กรสมาชิก สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิรักษ์ไทยและมูลนิธิแมพ โครงการ C19(RM) มูลนิธิเอ็มพลัส เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคเหนือตอนบน บ้านเตื่อมฝัน เครือข่ายองค์กรด้านชาติพันธุ์ กองบุญข้าววัดป่าดาราภิรมย์ มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เครือข่ายพระคิลานุปัฐาก จังหวัดเชียงใหม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง