“วิโรจน์” เปิด 12 นโยบาย เดินหน้าเสนอตัวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

การเมือง
27 มี.ค. 65
15:52
838
Logo Thai PBS
“วิโรจน์” เปิด 12 นโยบาย เดินหน้าเสนอตัวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“วิโรจน์” เปิด 12 นโยบาย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เมืองที่คนเท่ากัน” ระบุพร้อมชนกับต้นตอของปัญหา และจะทำให้ปัญหาของทุนคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

วันนี้ (27 มี.ค.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กรุงเทพ จากพรรคก้าวไกล แถลงเปิด 12 นโยบาย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เมืองที่คนเท่ากัน” ระบุพร้อมชนกับต้นตอของปัญหา และจะทำให้ปัญหาของทุนคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดย 12 นโยบายมีรายละเอียดดังนี้

นโยบายด้านสวัสดิการคนเมือง เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเป็น 1,200 บาทต่อเดือน และเพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,200 บาทต่อเดือน

นโยบายวัคซีนฟรีเพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงวัคซีนโรคปอดอักเสบ หลังพบว่า คนกรุงเทพฯ มีอัตราป่วยด้วยโรคนี้สูงเป็นอันดับ 3 และยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รวมทั้งวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ยกระดับ “ศูนย์สาธารณสุขชุมชน” ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฟรี

นโยบายหยุดระบบอุปถัมภ์ด้วยการเพิ่มงบประมาณ “ชุมชน” ปีละ 500,000–1,000,000 บาท ตามขนาดของชุมชน  

นอกจากนี้จะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละเขตเฉลี่ยปีละ 50 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณให้กรุงเทพฯ ปีละ 200 ล้านบาท และให้คนในชุมชน, เขต และทุกคนในกรุงเทพฯ เป็นคนตัดสินใจเลือกเอง ว่าจะนำงบประมาณก้อนนี้ไปจัดสรรพัฒนาอะไร ไม่ต้องไปร้องขอและใช้เส้นสายในการดึงงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา

นโยบายบ้านคนเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต ภายใน 4 ปี และให้คนกรุงเทพเช่าได้ระยะยาว 30 ปี รวมทั้งจะเริ่มรวบรวมที่ดิน (Land Bank) จากที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

นโยบายลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว โดยจัดให้มีรถเมล์คุณภาพ ทำตั๋วคนเมืองที่จ่ายในราคา 70 บาท แต่สามารถใช้เป็นค่าโดยสารได้ 100 บาท ผลักดัน “ตั๋วร่วม” ขึ้นรถไฟฟ้าในราคา 15-45 บาทได้ตลอดสายแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งแก้ปัญหาจุดเชื่อมต่อรถเมล์-รถไฟฟ้า-เรือ

นโยบายขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ เอาเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน โดยให้นายทุนต้องจ่ายค่าจัดการขยะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ต้องนำภาษีของประชาชนไปจ่ายให้นายทุน ปรับปรุงจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพ และแก้ไขกลิ่นเหม็นจากโรงงานขยะ

นโยบายลงทุนศูนย์ละ 5 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพเท่าเอกชน ครูและพี่เลี้ยงเด็กต้องได้สัญญาจ้างงานประจำ มีครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า และเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ยังขาดแคลนในหลายพื้นที่

นโยบายสร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ วิชาที่ไม่จำเป็นตัดออก เหลือเพียงวิชาบังคับ 4 วิชา เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เป็นโรงเรียนที่ปราศจากการรังแก (Bullying-Free School)

นโยบายลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง ด้วยการเปลี่ยนงบประมาณอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นงบปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อให้ระบายได้เร็วขึ้น แยกระบบท่อน้ำฝน - ท่อน้ำเสีย และตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command)

นโยบายเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะโดยใช้กลไกภาษีที่ดิน ออกข้อบัญญัติให้หน้าอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ทุกแห่งต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม

นโยบายทางเท้าดี เท่ากันทั้งกรุงเทพฯ พร้อมชนกับนักขุด ไม่มีเงินทอน ไม่มีการจ้างช่วง ให้ประชาชนเป็นพยานตรวจรับงาน หากมีการขุดทางต้องคืนกลับมาในสภาพดีเหมือนเดิม ทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผงลอย แต่จะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขาย และทางม้าลายต้องปลอดภัย

นโยบายเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ สร้างกรุงเทพโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น นำกรุงเทพฯ เข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐเปิดเผย (Open Government Partnership) การขอใบอนุญาตให้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้บุคคลที่สาม (Third Party) เป็นผู้ประเมินการขอใบอนุญาตและตรวจรับงาน และเปิดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเวปไซต์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง