ตื่นเต้น! พบ "ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล" ในรอบ 10 ปี

สิ่งแวดล้อม
31 มี.ค. 65
09:07
712
Logo Thai PBS
ตื่นเต้น! พบ "ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล" ในรอบ 10 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สำรวจพบ “ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล” ในพื้นที่ดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ถิอเป็นข่าวตื่นเต้นในรอบ 10 ปีหลังไม่เจอตัวมานาน สั่งให้สำรวจและศึกษาชีววิทยา เชื่อสภาพป่าสมบูรณ์ขึ้นทำให้ผีเสื้อเริ่มกลับมา

วันนี้ (31 มี.ค.2565) เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธุ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานข่าวดีว่า กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากน.ส.นงพงา ปาเฉย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ ว่าขณะที่ปฏิบัติงานวิจัยในโครงการวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาและลักษณะทางพันธุกรรมของแมลงคุ้มครองบางชนิดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ได้พบ “ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล” แมลงคุ้มครอง ใกล้สูญพันธุ์

สำหรับ “ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล” Teinopalpus imperialis เป็นแมลงคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และเป็นแมลงที่อยู่ในบัญชีที่ 2 แห่งอนุสัญญา CITES

ที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการพบผีเสื้อชนิดนี้นานมากกว่า 10 ปีแล้วจึงทำให้การพบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และบ่งชี้ที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า เนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอีกครั้ง

เร่งสำรวจ-เก็บข้อมูลชีววิทยาเพิ่ม

นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วน ให้ทีมนักวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการเก็บข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมทั้งหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลต่อไป

ก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ เคยสัมภาษณ์ ดร.แก้วภวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านกีฎวิทยาป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เกี่ยวกับสถานการณ์ผีเสื้อและแมลงคุ้มครองในไทย ซึ่งระบุว่าภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีแมลงคุ้มครองจำนวน 20 ชนิด ประกอบด้วย ผีเสื้อ 16 ชนิด ด้วงปีกแข็ง 4 ชนิด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์เกือบทั้งหมด แม้แต่นักกีฎวิทยาก็ยังไม่เคยเจอตัวมานานแล้ว

ทุกวันนี้ถ้าดูจาก 20 ตัว ที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง ที่ถือว่าวิกฤต และไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาแล้ว 30 ปี ก็คือ ผีเสื้อภูฐาน หรือ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไม่ได้เจอมานานแล้ว สมัยก่อนตามคำบอกเล่าของอาจารย์เคยมีแถวดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทำให้นักกีฎวิทยากังวลว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผีเสื้อของไทยที่หายไป?

ไฟป่า-รุกที่-จับขาย ต้นเหตุ "ผีเสื้อสมิงเชียงดาว" หายไปกว่า 40 ปี

จับเชฟหนุ่มลอบขายซาก “ผีเสื้อ” สัตว์คุ้มครองหายากผ่านโซเชียล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง