"นกปรอดหัวโขน" อยู่ที่ไหน?

สิ่งแวดล้อม
1 เม.ย. 65
11:03
10,893
Logo Thai PBS
"นกปรอดหัวโขน" อยู่ที่ไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาไปรู้จัก "นกปรอดหัวโขน" หรือภาคใต้เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงต้องรู้ คือนกชนิดนี้ ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ใครครอบครองต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "นกปรอดหัวโขนเคราแดง" หรือที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกในภาคใต้ เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" ในภาคเหนือเรียกว่า "นกปิ๊ดจะลิว" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pycnonotus jocosus

เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด Pycnonotidae ซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด ในประเทศไทยพบ 36 ชนิด

พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออก พบได้ในสภาพแวดล้อมตั้งแต่ยอดเขาสูง และตามป่าที่ราบต่ำ จนถึงทุ่งหญ้า ชายป่า และเขตที่ใกล้กับชุมนุม จากที่ราบไปจนถึงระดับความสูง 1,800 เมตร

นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีอยู่ในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน พบได้บ่อยทางภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน โดยมีชื่อเรียกกันดังนี้

  • ภาคเหนือ จะเรียกว่า "นกปริ๊จจะหลิว หรือ พิชหลิว" "นกปิ๊ดจะลิว"
  • ภาคกลาง จะเรียกว่า "นกปรอดหัวโขน" หรือ "นกปรอดหัวจุก"
  • ภาคใต้ เรียกว่า "นกกรงหัวจุก"

หลงเสียงร้องนก เสน่ห์การพัฒนาสายพันธุ์

นกปรอดหัวโขน ชอบส่งเสียงร้อง และมีเสียงที่ไพเราะ น้ำเสียงของแต่ละตัวแตกต่าง ซึ่งนกชนิดนี้นิยมเลี้ยงมากในพื้นที่ภาคใต้ มีการนำมาประกวดแข่งเสียงร้องซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้การเลี้ยงนกเขา

อีกทั้งนกตัวที่ชนะการประกวด มีรางวัลการันตี ทำให้ยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น เป็นที่ต้องการของคนที่ชื่นชอบ โดยราคานกที่ชนะรางวัล อาจมีมูลค่าตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท

ไม่เพียงการเลี้ยงเพื่อประชันเสียงร้อง ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกยังพัฒนาสายพันธุ์ เช่น สีเผือก สีเทา สีด่าง เกิดเป็น "นกกรงหัวจุกแฟนซี"

แม้กลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแฟนซี ไม่แพร่หลายเท่ากับการเลี้ยงเพื่อประชันเสียงร้อง แต่ราคาต่อตัวของนกแฟนซี อาจสูงได้เช่นกันเพราะมีความเฉพาะและแตกต่าง  

เช็กลักษณะ "นกปรอดหัวโขน"

สำหรับรูปร่างลักษณะ "นกปรอดหัวโขน" เป็นนกขนาดเล็ก ปากสีดำเรียว ปลายปากโค้งเล็กน้อย หลังคอและด้านข้างคอมีสีดำ ใต้ตามีแถบสีแดง ซึ่งตัวเมียจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ ขนคลุมตัวด้านหลัง ขนคลุมหางสีน้ำตาล มีหงอนยาวสีดำตั้งชัน ขึ้นมาบริเวณหน้าผาก มองดูคล้ายคนที่สวมหัวโขน 

แก้มสีขาว มีแถบดำล้อมด้านล่าง ค้าง ใต้คอ หน้าอกท้องสีขาว มีขนสั้นแข็ง บริเวณโคนปาก คอสั้น ลำตัวเพรียวปีกสั้น หางยาว ลำตัวด้านบน สีน้ำตาล ด้านล่างสีขาว ขนหางและปีกมีสีน้ำตาลแก้มดำ ขาสีน้ำตาลดำ เล็บสีดำ ขนคลุมใต้โคนหางสีส้มแดง ขนหางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว

 

นกปรอดหัวโขน ชอบกระโดด และบินหากินอยู่บนต้นไม้ บินไปตามทุ่งหญ้า ส่วนอาหารที่กินจะเป็นพวกผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น กล้วย มะละกอ นอกจากนั้นมันยังชอบกินแมลง หนอน 

ส่วนการสืบพันธุ์ นกปรอดหัวโขน จะอยู่รวมกันเป็นฝูง และเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ จึงแยกจากฝูงไปหากินเป็นคู่ ๆ สร้างรังเป็นรูปถ้วยตามไม้พุ่มขนาดเล็ก 

นกปรอดหัวโขนไม่ค่อยตื่นกลัวผู้คน ทำให้ถูกดักจับได้ง่าย และคราวละหลาย ๆ ตัว นอกจากนี้พวกค้านกยังชอบจับลูกนกที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้มาจากรังด้วย เพราะสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ง่ายกว่านกที่โตเต็มที่แล้ว

ในภาคเหนือ นกปรอดหัวโขนเป็นที่รู้จักดี เพราะพบเห็นได้ตามบ้าน พบได้ทั้งในรั้วบ้าน ริมถนน หรือตามสวนผลไม้ 

ส่วนในภาคใต้สามารถพบเห็น ตามบ้าน ซึ่งล้วนมีกรงนกชนิดนี้แขวนไว้ 

สำหรับผู้สนใจการเลี้ยง "นกปรอดหัวโขน" เพื่อการเพาะขยายพันธุ์ การอนุรักษ์และการประกวด ต้องเลี้ยงนกกรงหัวจุกที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์จากฟาร์ม หรือผู้เพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้จับมาจากธรรมชาติ

รวมถึงต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เพื่อการครอบครอง เพาะพันธุ์และการค้า เนื่องจาก "นกปรอดหัวโขน" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศอ.บต.ชงกรมอุทยานฯ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นบัญชีสัตว์สงวน

ยึด "นกปรอดหัวโขน" 1,700 ตัว ลอบนำเข้าชายแดนไทย-ลาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง