หาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ออนไลน์ พื้นที่ให้แสง-เสี่ยงดับ ชั่วข้ามคืน

การเมือง
1 เม.ย. 65
14:00
310
Logo Thai PBS
หาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ออนไลน์ พื้นที่ให้แสง-เสี่ยงดับ ชั่วข้ามคืน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นอกจากใช้เพื่อโปรโมตแล้ว โซเชียลมีเดียเป็นอีกพื้นที่สำหรับการส่งต่อและวิพากษ์วิจารณ์ การหาเสียงเพื่อชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ เป็นอีกสมรภูมิที่ผู้สมัครต้องใช้อย่างถูกทางเพราะอาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทั้งให้แสงและเสี่ยงดับได้ในชั่วข้ามคืน

ห่างหายจากการหาเสียงเลือกตั้งมานาน กลับมาครั้งนี้ ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องมาพร้อมกับกลยุทธ์การหาเสียงใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์คว้าใจเหล่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) ซึ่งมีฐานเสียงประมาณ 700,000 คน ยังไม่นับรวมคนสูงอายุที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นประจำอีกจำนวนมากด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่พบว่า หลายคนเริ่มเห็นปรากฏการณ์หาเสียงทางออนไลน์ ของบรรดาผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.กันแล้ว แต่เห็นโพสต์จากผู้สมัครเพียง 2-3 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะพบการหาเสียงในช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คอนเทนต์อะไรที่สามารถดึงดูดพวกเขาได้ หลายคนอยากเห็นนโยบายของผู้สมัครผ่านคลิปวิดีโอ ที่ประกาศว่าจะทำอะไรในอนาคต หรือลงมือแก้ปัญหาอะไรบ้าง อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนกรุงเทพฯ ว่า สิ่งที่พูดมานั้นเป็นเรื่องที่ทำได้จริง ไม่ใช่เพียงลมปาก

First Time Voter ยังได้ฝากถึงผู้สมัครว่า การโพสต์คลิปวิดีโอปราศรัย พูดนโยบายยาวเกิน 3 นาที หรืออินโฟกราฟิกที่มีแต่ตัวหนังสือยาวเหยียดไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก สำหรับยุคที่ทุกคนต้องสู้ชีวิตทำมาหากินเพื่อสร้างตัว การไลฟ์ตอบคำถาม สั้น ๆ ทำคอนเทนต์แก้ปัญหาในประเด็นร้อนจะได้รับการตอบรับที่มากกว่า และช่องทางคลับเฮ้าต์เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สมัครที่อยากจะแสดงวิสัยทัศน์ให้ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น เพราะทุกคนมีสิทธิ์เข้าไปถามได้ด้วยตัวเอง

นอกจากการผลิตเนื้อหาหาเสียงด้วยทีมงานผู้สมัครแล้ว หลังจากจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ชาวโซเชียลก็ได้ทำให้ผู้สมัครได้พื้นที่สื่อออนไลน์ไม่น้อย อย่าง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ที่มีชาวทวิตเตอร์ออกแบบโลโก้หมายเลข 8 ใส่เข้าไปในชื่อชัชชาติ จนกลายเป็นงานอาร์ตสุดไวรัลในโลกออนไลน์ แชร์กันกว้างขวางจนเจ้าตัวออกมาทวีตชื่นชมและขอบคุณ 

 
ขณะที่ "สกลธี ภัททิยกุล" เป็นอีกชื่อที่ถูกกล่าวถึงจากการจับได้หมายเลข 3 เนื่องจากเจ้าตัวเคยวิพากษ์วิจารณ์การชู 3 นิ้วของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกลายเป็นประเด็นให้ชาวโซเชียลแซวกันว่าท่าชู 3 นิ้วของ "สกลธี ภัททิยกุล" จะออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายก็ได้รับเฉลยด้วยภาพถ่าย "ท่าโอเค"

 
นอกจากชาวโซเชียลช่วยสร้างพื้นที่ให้แล้ว อีกแง่หนึ่งชาวโซเชียลก็สร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้สมัครได้เช่นเดียวกัน อย่างกรณีป้ายหาเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ถูกถ่ายภาพแล้วนำไปโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จนกลายเป็นไวรัล และถูกตั้งคำถามถึงการติดป้ายหาเสียงที่กระทบคนใช้ทางเท้า 

 
หรือแม้แต่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ว่า มีการแจกใบปลิวหาเสียงโดยการเย็บแม็กแนบไปกับจดหมายซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของผู้รับ ซึ่งอาจทำให้เอกสารได้รับความเสียหายจนเกิดเป็นคำถามว่า การแจกใบปลิวหาเสียงเช่นนี้สมควรหรือไม่ 

พื้นที่บนโลกออนไลน์ คือ สถานที่สำหรับสร้างและทำลายได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น นอกจากการหาเสียงบนโลกเสมือนที่สร้างสรรค์แล้ว การหาเสียงในโลกจริงก็ต้องไม่สร้างปัญหาด้วย และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การกระทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเหล่าผู้สมัคร ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่บนโลกออนไลน์ได้บันทึกเรื่องราวไว้ทั้งหมด และอาจนำไปสู่การตัดสินใจเลือกผู้แทนของชาวกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดหมายเลขผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกรุงเทพ

ยอดผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." ครึ่งวันแรก 17 คน - ส.ก. 327 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง