เวทีแรก! หลังได้เบอร์ ดีเบต 5 ผู้สมัคร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรกทำอะไร?

การเมือง
2 เม.ย. 65
17:30
1,486
Logo Thai PBS
เวทีแรก! หลังได้เบอร์ ดีเบต 5 ผู้สมัคร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรกทำอะไร?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฟังชัด ๆ เวทีแรก! ดีเบตผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. หลังได้รับหมายเลขประจำตัว ประเดิม 5 ผู้สมัคร "วิโรจน์-สกลธี-สุชัชวีร์-รสนา-ชัชชาติ" กับวิสัยทัศน์ในคำถาม หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรกจะทำอะไรหลังรับตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 ไทยพีบีเอสจัดเวที ประชันวิสัยทัศน์ "ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม." ศึกแรกหลังได้รับหมายเลขผู้สมัครผ่านรายการ "ตอบโจทย์" โดยมีผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 5 คนเข้าร่วม ได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1, สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4, รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8


ฟังชัด ๆ เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรกจะทำอะไร?

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4

ชีวิตสำคัญที่สุด วันนี้ต้องยอมรับว่า หากยังแก้ปัญหา COVID-19 ไม่ได้ อะไรก็ไม่ดี จึงขอเข้าไปสู้กับ COVID-19 อย่างถึงลูกถึงคน เพราะหลังเดินหาเสียง 50 เขต กรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดน้อยลง และเห็นผู้เสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เพราะเข้าถึงระบบได้ช้า

ผมเห็นคุณแม่ร้องไห้เพราะลูกวัย 11 ขวบติดโควิดเพราะไม่รู้ต้องทำอย่างไร จึงควรเสริมกำลังให้ อสส.เสิรมกำลังให้หมอและพยาบาล และทำระบบให้การเข้าถึงผู้ป่วยให้กระชับกว่านี้ 

วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 30,000 คน แต่หลังจากลงพื้นที่พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีมากกว่าที่ปรากฏ ขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขยังไม่ได้รับการอบรมว่า เมื่อพบผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร ขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การส่งต่อโรงพยาบาล และเกิดปัญหาเตียงไม่เพียงพอ จึงควรจัดการอบรมเพื่อให้องค์ความรู้และอุปกรณ์ เพื่อให้ อสส.ดูแลผู้ป่วยในชุมชน 

นอกจากนี้ ต้องการดูแลเด็กเล็กที่ขณะนี้มีงบประมาณอาหารอยู่เพียง 20 บาท ทำให้เห็นข้าวกับแกงจืดวิญญาณหมู นม 1 กล่อง และเศษผลไม้ จึงต้องการเพิ่มงบประมาณอาหารเป็น 40 บาท เพื่อให้เด็กเล็กได้อาหารครบ 5 หมู่ และ 3 เดือนแรกน้ำท่วมก็กำลังจะมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถนัดด้วยวิชาชีพส่วนตัว

หากถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ต้องตอบว่าชีวิตคน หากยังสู้ COVID-19 ไม่ได้ จะไม่มีอะไรดีขึ้น และคนวัยไหนที่ต้องการความดูแลมากที่สุดก็คือเด็กเล็ก ดังนั้น 2 เรื่องนี้คือหัวใจที่ กทม.ต้องเร่งเข้าไปดูแล

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7

COVID-19 เป็นเรื่องสำคัญ โดยทุกคนต้องอยู่กับ COVID-19 ให้ได้ และทำมาหากินอย่างมั่นใจ โดยจะแจกยาฟ้าทะลายโจรและยาไทยฟรี เมื่อปี 2564 ยังไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ ก็ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรซึ่งทำให้เห็นแล้วว่าช่วยผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้น กทม.ต้องก้าวผ่านวิกฤต COVID-19 โดยการพึ่งตัวเอง 

ถ้าคุณมีอาการที่เป็นหวัด เจ็บคอ คุณอาจไม่ต้องโทรศัพท์ตามหาเตียงสู้กับ 50,000 สาย เพราะระบบมีจำกัด หากประชาชนมีความมั่นใจ ไม่กังวลจนหวาดกลัว การดูแลตัวเองให้ดี และรักษาตั้งแต่ต้น ก็มีโอกาสที่จะหาย

ต้องบอกว่า ส่วนตัวไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว เพราะว่าจะใช้ชีวิตตัวเองเพื่อทดลองว่า ยาไทยทำให้เราพึ่งตัวเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาตรวจ ATK ก็ผลเป็นลบตลอด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราต้องเชื่อมั่นในยาไทย และสมุนไพร สมัยก่อนไทยพบสงครามโลก ไม่มียาจากต่างประเทศ คนไทยอยู่รอดมาได้อย่างไร

ไทยคิดแต่จะพึ่งต่างประเทศ จนทำให้สูญเสียรายได้ไปเท่าใด แทนที่จะส่งเสริมยาไทยแล้วส่งไปขายต่างประเทศเพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามา แต่ยืนยันว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ให้คนกรุงเทพฯ ไปฉีดวัคซีน แต่คิดว่า คนไทยควรกลับมาพึ่งตัวเอง 

ขณะเดียวกันจะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยชูแคมเปญบำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน ทำได้ก่อนที่ กทม. ไม่ต้องรอรัฐบาล ขณะนี้ทุกคนมีเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท โดย กทม.มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.1 ล้านคน ตัดผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการ และผู้สูงอายุที่มีรายได้ ดูเฉพาะผู้สูงอายุที่รายได้น้อยและไม่มีหลักประกัน 533,392 คน ซึ่งจะใช้เงินปีะล 14,682 ล้านบาท 


เมื่อตรวจสอบ กทม.มีเงินกว่า 79,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งค่าใช้จ่ายเป็นหลายหมวด โดยจะมองในงบส่วนอื่นที่จะรีดไขมันให้ลดลง โดยเฉพาะการลดทุจริตคอรัปชัน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ หลังพบรายงานจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและองค์กรต่อต้านคอรัปชัน เกี่ยวกับการจ่ายเงินใต้โต๊ะทั่วประเทศไทย 20-35% รวมถึงการลดเงินจากการกำจัดขยะ แต่หันมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างเงินจากขยะ รวมถึงดูรายได้จากกรุงเทพธนาคม เงินเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อเงินบำนาญประชาชน

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3

จากประสบการณ์ถ้าเข้าไป 100 วันแรก โครงการใหญ่คงทำไม่ทัน เพราะต้องมีการทำจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น 100 วันต้องทำสิ่งที่ทำได้ โดยไม่ต้องสร้างโครงการใหม่ อย่างแรกคือ กฎหมายที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ยังบังคับใช้ไม่เข้มงวด เช่น การจับปรับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า เฉพาะที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. 3 ปี จับปรับได้ถึง 46 ล้านบาท ซึ่งหากได้กลับไปจะไปเข้มงวดต่อ

ต่อมาคือเรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย บางอย่างต้องยกเลิก เพราะอาจทำให้เกิดข้อจำกัด รวมถึงการเพิ่มกฎหมายที่จำเป็น โดยเฉพาะกิจกรรมบางอย่างของ กทม. เช่น การเก็บขยะที่ กทม.ไม่จำเป็นต้องทำ กฎหมายเปิดช่องให้เอกชนดำเนินการได้ แต่ต้องออกข้อบัญญัติเพิ่มเติมเป็นรายละเอียด ซึ่งภายใน 3 เดือนเสร็จสิ้นทันแน่นอน

ปกติการเก็บขยะ ค่าจ้างคน ซื้อรถ เช่ารถ ค่าถังขยะ 1 ปีประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องจ่าย ถ้าให้เอกชนทำ เผลอ ๆ ได้เงินด้วย และเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่นได้อีก

ส่วนเรื่องงบประมาณเมื่อเข้าไปต้องเร่งทำแล้ว โดยเฉพาะงบประมาณขุดลอกท่อ ต้องไปดูว่าแต่ละเขตที่ได้งบประมาณไป ทำเสร็จไหม เพราะแต่ละเขตทำจัดซื้อจัดจ้างช้า เมื่อฤดูฝนมาก็ไม่ทัน และต้องไปดูว่างบประมาณไหนที่ไม่จำเป็นต้องไปลด และนำไปใช้ในส่วนที่จำเป็นมากกว่า


นอกจากนี้ ต้องไปบริหารจัดการงานประจำของเขต โดยเฉพาะแรงงานประจำเขตมีของอยู่แล้วที่พร้อมจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ร้องเรียน ซึ่งทำได้อยู่แล้ว รวมถึงเข้าไปช่วยชุมชนจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ลืมตาอ้าปากได้ และอาวุธสำคัญคือ เงินช่วยเหลือประกอบอาชีพของผู้เดือดร้อน ที่อนุมัติงบจัดสรรเพิ่มได้ทันทีหัวละ 5,000 บาท หากรวมทั้งหมดเข้าด้วยกันใน 100 วันสามารถดำเนินการได้แน่นอน ส่วนโครงการใหญ่ ๆ อาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา COVID-19 ทำให้เงิน กทม.หายไป 30-40% ทำให้โครงการที่ช่วยประชาชนง่อยไปเยอะเลย หากผู้ว่าฯ กทม.หาเงินเข้ามาได้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1

การเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผู้ว่าฯ กทม.มา คือการมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ สิ่งที่ประชาชนอยากให้ทำ เพราะเป็นความทุกข์ร้อนที่เกิดกับเขามานาน เขาร้องทุกข์ ร้องเรียน แต่ไม่มีใครมาดูดำดูดี และบางคนก็กลัวถูกอำนาจคุกคาม 

สำหรับ 100 วันแรก เรื่องแรกที่จะทำ คือ การนำกุญแจเซฟไปเปิดเอาร่างบันทึกการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาให้ประชาชนได้ดูเสียที เพราะปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงคือ การจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน การต่ออายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีเงื่อนไขตั๋วร่วมหรือไม่ เกิดอะไรขึ้นกับสัญญาที่ดำมืด เพราะประชาชนทุกคนสงสัยทั้งหมดว่ามีความเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ เงื่อนไขในการคิดค่าโดยสารเป็นอย่างไร 

ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ผมเปิดแน่นอน เนื่องจากใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารขอไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ แต่ประชาชนทุกคนอยากรู้หมด อย่างน้อยสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวกรุงเทพคือสิทธิที่จะรู้ใช่ไหม และนี่คือภาระที่เขาต้องแบกอีก 30 ปี

เรื่องต่อมา คือ ปัญหาขยะ กลิ่นขยะที่รบกวนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่มาจากโรงกำจัดขยะ ที่เจ้าของอาจจะรู้จักกับคนในรัฐบาลซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เพราะนี่คือเรื่องที่มีคนได้รับผลกระทบเป็นแสน ๆ คน ผู้ว่าฯ ต้องกล้าพูดเรื่องนี้ ไม่ใช่ไม่กล้าแตะ แต่ต้องมาวางแผนเพื่อแก้ปัญหา นี่คือสิ่งที่ประชาชนรอผู้ว่าฯ ที่มีอำนาจจากประชาชนมาแก้ไข


ไซต์ก่อสร้างเต็ม กทม.เป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไข หลายไซต์เกินกำหนดสัญญามานานแล้ว แต่ กทม.ไม่ได้มีการปรับตามสัญญา ทำให้กี่ชีวิตต้องสังเวยจากรถมอเตอร์ไซค์ขับไปชนแบริเออร์ ผิวถนนไม่เรียบจากฝาครอบงานที่ไม่เรียบ ล้อมอเตอร์ไซค์ตกไปในร่อง ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเรียกผู้รับเหมามาคุยว่าเร่งรัดได้หรือไม่ อะไรที่ กทม.ช่วยได้หรือไม่ หากจะปรับก็ต้องปรับ หากโครงการต้องชะลอต่อไป ต้องทำให้พื้นที่ก่อสร้างปลอดภัยโดยคำนึงถึงชีวิตประชาชนที่สัญจรไปมา

เรื่องสุดท้าย กทม.กำลังจะเจอกับหน้าฝน จะสามารถใช้งบฯ กลางเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องสูบหน้าแต่ละสถานีได้หรือไม่ ซักซ้อมการประสานงานระหว่างเขตกับสำนักระบายน้ำว่า เมื่อเกิดน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำโมบายจะไปที่ไหน และที่สำคัญคือ ระบบสำรองไฟ เพราะหากไฟดับแล้วเครื่องสูบน้ำใช้การไม่ได้ "เราไม่ควรจะมาตายน้ำตื้นแบบนี้ และคนกรุงเทพฯ ไม่ควรต้องมายอมรับอะไรแบบนี้"

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8

อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น 100 วันแรก ทุกคนต้องมีชีวิตที่น่าอยู่ขึ้น ซึ่งได้กำหนดนโยบายไว้ 9 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การเรียน บริหาร การเดินทาง โครงสร้าง เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ และมีแผนปฏิบัติงานอยู่กว่า 200 แผน ข้าราชการ กทม.มี 80,000 คน 16 สำนัก 50 เขต ดังนั้น ต้องขับเคลื่อนทั้ง 200 เรื่องพร้อมกัน

100 วันแรกไม่ได้วัดเฉพาะโครงการระยะสั้น แต่โครงการ 4 ปี ก็ต้องเริ่มไปพร้อมกัน หากโครงการระยะสั้นเห็นผลก็เห็นผล หัวใจสำคัญคือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ ให้ทุกหน่วยทุกสำนัก ทุกแผนก้าวไปพร้อมกัน ตอบโจทย์ประชาชนทุกด้าน

ยกตัวอย่างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 100 วันแรก จะเห็นโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เริ่มทำงาน กำหนดให้ทุกเขตปลูกต้นไม้ 100 ต้น ทุกวันอาทิตย์ ใน 1 ปีจะได้ต้นไม้เพิ่ม 250,000 ต้น ซึ่งโครงการนี้ไม่ต้องใช้เงินทุน ใช้เพียงกล้าไม้ และหาพื้นที่ปลูกเท่านั้น

ประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 ผู้ว่าฯ ประกาศตั้งแต่รับตำแหน่งวันแรก เพราะอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จุดไหนที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ มาจาไซต์ก่อสร้าง ต้องกล้ายึดใบอนุญาตก่อสร้างทันที ติดตั้งเซ็นเซอร์ทั่วกรุงเทพฯ เตือนฝุ่น และแจกอุปกรณ์กันฝุ่นแก่กลุ่มเปราะบาง


แม้ว่าจะเป็นโครงการระยะยาว 100 วันแรกก็ต้องคืบหน้า เพราะแต่ละสำนักแยกจากกัน เหมือนเป็น CEO บริษัท ทุกแผนกไฟแนนซ์ บัญชี ฝ่ายออกแบบ ต้องมีงานของตัวเอง ข้าราชการ กทม. 80,000 คน ต้องรู้ตั้งแต่วันแรกว่าจะปรับปรุงการทำงานเพื่อบริการประชาชนอย่างไร 

เป็นผู้ว่าฯ ไม่ใช่เอาตัวเราเป็นคนทำงาน แต่ต้องใช้องคาพยพทั้งหมดของ กทม. และแต่ละพื้นที่โจทย์ไม่เหมือนกัน ประชาชนมีความต้องการต่างกัน ดังนั้นการขับเคลื่อนต้องเป็นไปในหลายมิติ

โครงการด้านสาธารณสุข ต้องการให้ให้บริการเพิ่มขึ้น 100 วันแรกสามารถขยายการให้บริการได้ทันที ขยายเวลาดูแลประชาชน เพิ่มหมอพาร์ตไทม์ ให้บริการแพทย์ทางไกล ทดลองต่อรถเชื่อมต่อกับหมอได้ ทั้งหมดนี้เห็นผลได้ทันที ทุกโครงการสำคัญหมด หัวใจคือ คนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น และผู้ว่าฯ กทม.ต้องแถลงให้ประชาชนได้รับรู้ว่า 200 โครงการดำเนินการไปถึงไหน โครงการระยะสั้นอาจจะเสร็จใน 100 วันแรก แต่โครงการระยะยาวก็ต้องแจ้งว่าดำเนินการไปถึงไหน 

ทั้งนี้ ในรายการตอบโจทย์ยังมีการตั้งคำถามถึงนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยสามารถรับชมการดีเบตอย่างเต็มอิ่ม 1.47 ชั่วโมงได้ผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบรายการตอบโจทย์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดหมายเลขผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกรุงเทพ

"ร้องแร็ป-Squid Game" สนามหาเสียงออนไลน์ผู้ว่าฯ กทม.คึกคัก

เช็กนโยบาย! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.กับเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง