ครม.เคาะอัตราจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มแก่ผู้ประกันตน 2.95%

เศรษฐกิจ
5 เม.ย. 65
15:02
23,384
Logo Thai PBS
ครม.เคาะอัตราจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มแก่ผู้ประกันตน 2.95%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครม.เคาะอัตราจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มให้แก่ผู้ประกันตนอีกร้อยละ 2.95 ในช่วง 1 พ.ค.-31 ก.ค.ส่งผลผู้ประกันตนประมาณ 4.8 ล้านคน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นในภาพรวม 4,553 ล้านบาท

วันนี้ (5 เม.ย.2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาและอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.2565 โดยให้คำนวณเพิ่มจากอัตราเงินสมทบขึ้นอีกร้อยละ 2.95 ของค่าจ้างที่มีตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.2565 เพื่อให้สามารถจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพได้เพิ่มขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า จากมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ให้ลดอัตราเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมในระยะเวลา 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ประกันตนบางส่วนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพลดลง เนื่องจากเป็นการคำนวณจากเงินที่มีการจ่ายเข้ากองทุน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายลดผลกระทบ โดยเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยให้คำนวณอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 2.95 ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงลดอัตราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานคาดว่ามีผู้ที่ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพที่จะได้รับผลกระทบจากการลดอัตราเงินสมทบจำนวน 4,860,212 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของผู้นำส่งเงินสมทบ ม.33 และ ม.39 ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ลดอัตราเงินสมทบ และเมื่อมีการปรับอัตราจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จะมีผลให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นในภาพรวม จำนวน 4,553 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกัน ม.33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 1,032 บาท/คน รวมเป็นเงิน 4,232 ล้านบาท และผู้ประกันตนตาม ม.39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 423 บาท/คน รวมเป็นเงิน 321 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อยังชีพในยามชรา บรรเทาปัญหาการเงินของผู้ประกันตนได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เหมาะสม กองทุนประกันสังคมอาจจะต้องมีการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ต่อไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง