ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เดินสายฟังปัญหา "สะพานลอย-น้ำเสีย-ขยะ"

การเมือง
8 เม.ย. 65
20:39
127
Logo Thai PBS
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เดินสายฟังปัญหา "สะพานลอย-น้ำเสีย-ขยะ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหลืออีก 43 วันจะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร /เวทีในการแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อแก้ปัญหา กทม.ที่แต่ละองค์กรจัดก็มีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม วันนี้เป็นการประชันนโยบายการแก้น้ำเสียและขยะ

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รับฟังปัญหา

วันนี้ (8 เม.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ถือฤกษ์ วันที่ 8 หาเสียงตามตลาดในพื้นที่ฝั่งธนฯ และจบที่ชุมชนรอบสะพานพระราม 8 โดยนำเสนอนโยบายในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พร้อมเปิดนโยบายใหม่ “ผู้ว่าฯเที่ยงคืน” โดยจะสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง การลดค่าใช้จ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจของคนที่มีต้องทำมาหากินในช่วงกลางคืนให้ดีขึ้น

ช่วงหนึ่งของการหาเสียง นายชัชชาติขึ้นสะพานลอย พร้อมระบุว่า ประเด็นสะพานลอย ยังเป็นโจทย์ยาก สำหรับผู้สูงอายุจึงต้องทำให้ทางม้าลายให้มีความปลอดภัยสำหรับการข้ามถนน

ขณะที่ นายศุภชัย ตันติคมน์ ผู้สมัคร อิสระ เบอร์ 10 ลงพื้นที่ซอยอารีย์ ซอยสายลม ถ.พหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อพบปะพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของแผงลอย และรถเข็นริมฟุตบาทในพื้นที่ผ่อนผัน โดยชูนโยบายพัฒนาตลาดในหลายรูปแบบ และเชื่อว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้ทางเท้ากับผู้ค้าได้

นายสกลธี ภัทริยะกุล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 3 วันนี้ออกหาเสียงกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยเน้นไปที่ตลาด 4 แห่งเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากพ่อค้า-แม่ค้าเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมเสนอเรื่อง การเปิดพื้นที่ค้าขายใหม่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและปรับปรุงตลาดที่มีอยู่ในกรุงเทพ ให้ดีกว่านี้

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 ลงพื้นที่ ชุมชนมุสลิมเขตสะพานสูง-มีนบุรี ชูนโยบายด้านการศึกษา รวมโรงเรียนสอนศาสนาทุกศาสนา เข้ามาอยู่ในสังกัด กทม. เพื่อพัฒนาเทียบเท่าโรงเรียนทั่วไป พร้อมผลักดันการแก้กฎหมายที่เป็นข้อจำกัดของผู้ว่า กทม. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6 ลงพื้นที่พร้อมกับผู้สมัคร ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ในย่านชุมชนคลองเตย 70 ไร่ ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ และเป็นฐานเสียงสำคัญ โดยพล.ต.อ.อัศวินระบุว่า จะเน้นเดินหน้า พัฒนานโยบาย ตามความต้องการของแต่ละชุมชน ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน

ผู้สมัครฯ ถกนโยบายแก้น้ำเสียค้างบำบัด

ส่วนเวทีเสวนาการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีตัวแทนนักวิชาการเสนอสถานการณ์น้ำเสียใน กทม. ที่ตอนนี้ มีมากกว่าวันละ 2 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร แต่ขีดความสามารถในการบำบัดมีอยู่ไม่ถึงครึ่ง (1,112,000 ลบ.ม.)

ที่สำคัญคือ มีน้ำเสียที่เข้าระบบ เพียง 8,880,000 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ที่เหลือถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ จึงเสนอให้ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ พิจารณาระบบบริหารจัดการใหม่ และเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เห็นด้วยกับการแยกท่อน้ำฝนกับท่อน้ำทิ้งออกจากกัน แต่การจะแก้น้ำเสียได้ ต้องสร้าง “เมืองที่เป็นธรรม” ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแบบใครทิ้งมาก-จ่ายมาก รวมถึง สร้างแรงจูงใจด้านภาษี ให้ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ร่วมแก้ปัญหา

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ระบุว่า หากจะเก็บค่าธรรมเนียมฯ ควรมีมาตรการเชิงบวกสนับสนุนคนที่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าจะแก้ทั้งระบบ ต้องสร้างระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ พร้อมพัฒนาระบบสารสนเทศในการบริหารคู-คลอง โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดให้ผู้อำนวยเขตทั้ง 50 เขตด้วย

ผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทยเปิดเวทีกองทุนพัฒนาชุมชน

ด้านพรรคเพื่อไทย ที่ส่งเฉพาะผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร วันนี้ มีการเปิดเวทีพูดคุยนโยบาย "กองทุนพัฒนาชุมชน 2 แสนบาท ต้นแบบ ประชาธิปไตยกินได้" โดยมีผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรค และทีมสนับสนุน เข้าร่วมแลกเปลี่ยน กับผู้สมัคร ส.ก.ในเขตบางแค

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.ทุ่ม 300 ล้าน เลือกตั้งผู้ว่าฯ-ส.ก. เพิ่ม-ถอนชื่อ ภายใน 11 พ.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง