สังหารหมู่ยูเครน รัสเซียจะถูกสอบหรือไม่ ?

ต่างประเทศ
13 เม.ย. 65
12:10
372
Logo Thai PBS
สังหารหมู่ยูเครน รัสเซียจะถูกสอบหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มติถอดถอนรัสเซียออกจาก UNHRC "สีหศักดิ์" อดีตประธาน UNHRC มองว่าอาจทำให้การตรวจสอบการสังหารหมู่ในเมืองบูชาทำได้ยากขึ้น เนื่องจากรัสเซียไม่เป็นสมาชิกแล้ว จำเป็นต้องส่งเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการ เนื่องจากรัสเซียยังเป็นสมาชิก

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2565 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ให้สัมภาษณ์รายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอส เกี่ยวกับกรณีการระงับสมาชิกภาพของรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2011 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคยระงับสมาชิกภาพของประเทศลิเบีย ในช่วง "อาหรับสปริง" ซึ่ง มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำในขณะนั้น มีการปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง

การระงับสมาชิกภาพของรัสเซียครั้งนี้ รัสเซียได้ถอนตัวเองออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้ว ทำให้รัสเซียไม่จำเป็นจะต้องมาเข้ากระบวนการสอบสวน ตามมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นายสีหศักดิ์ อธิบายกระบวนการสอบสวนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่ามีหลายรูปแบบ เช่น การตั้งคณะกรรมการสืบสวน (commission of inquiry) และเลือกบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นกลาง ทำหน้าที่สอบสวนข้อกล่าวหาทั้งหลายหรือแต่งตั้งผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ซึ่งจะมีการกำหนดตัวบุคคลหรือคณะกรรมการธิการที่จะทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อได้ผลสอบสวนแล้ว ต้องรายงานกลับมาที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณา หากทุกอย่างเกิดขึ้นจริง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็จะเสนอเรื่องนี้ต่อไปยังคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า จุดอ่อนของข้อมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคือ ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ ซึ่งจะแตกต่างจากข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีอำนาจในการบังคับใช้

ดังนั้น ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากรัสเซีย เนื่องจากได้ถอนตัวออกไปแล้ว ทางคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต้องเสนอเรื่องไปทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อดำเนินการออกข้อมติ ให้มีผลบังคับใช้ต่อรัสเซีย

เพราะรัสเซียยังเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ต้องปฏิบัติตามข้อมติที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นายสีหศักดิ์ ยังกล่าวถึงจุดยืนของไทยที่งดออกเสียงในการระงับสมาชิกภาพของรัสเซียว่า เป็นจุดยืนที่ถูกต้อง ซึ่งมองว่าประเทศที่งดออกเสียงต่างมองเห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาโดยวิธีทางการทูตเป็นสิ่งที่จำเป็น

เรื่องนี้กลายเป็นเกมของประเทศมหาอำนาจไปแล้ว เราไม่ได้ต้องการเป็นตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งของมหาอำนาจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง