Nimo Planet แว่นตาอัจฉริยะ ทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์

Logo Thai PBS
Nimo Planet แว่นตาอัจฉริยะ ทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
Nimo Planet แว่นตาอัจฉริยะที่ทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์แบบพกพา มองเห็น 6 หน้าจอ และช่วยให้ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา

แว่นตาอัจฉริยะ Nimo Planet ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สวมใส่ โดยเน้นไปที่การทำงานเป็นหลัก ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้จากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องพกพาคอมพิวเตอร์ เพราะแว่นตาจะช่วยให้มองเห็นหน้าจอถึง 6 หน้าจอ จึงเหมือนได้ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์

เทคโนโลยีเกี่ยวกับแว่นตาอัจฉริยะ (Smart Glasses) เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาและพูดถึงอยู่เสมอ โดยมีแนวโน้มที่จะอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น โดย Nimo Planet ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในแว่นตาอัจฉริยะที่จะช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานจากที่ไหนก็ได้ให้สะดวกมากขึ้น

จากลักษณะภายนอก แว่นตา Nimo Planet ไม่ได้แตกต่างจากแว่นตาทั่ว ๆ ไป แต่มีฟังก์ชันการทำงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น เพราะมีเลนส์ที่ทำให้มองเห็นหน้าจอถึง 6 หน้าจอ ซึ่งแสดงผลการทำงานแยกกัน จึงทำให้มองเห็นได้หลายหน้าจอพร้อมกัน

จอแสดงผลที่ได้จากแว่นตา Nimo Planet จะให้ความละเอียดที่เทียบเท่าจอแสดงผลขนาด 45 นิ้ว หรือหน้าจอที่มีความละเอียด 720p นอกจากนี้ ยังมีชิป Snapdragon XR1 ของ Qualcomm ที่ช่วยควบคุมระบบการทำงาน และสามารถเชื่อมต่อเม้าส์ คีย์บอร์ด และหูฟังเข้ากับตัวแว่น จึงทำให้ทำงานได้ไม่ต่างกับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ แต่มีน้ำหนักน้อยลง เพราะเหลือเพียง 1 ใน 7 ของแล็ปท็อปทั่วไป

แม้ว่าแว่นตาจะทำงานหลายอย่างได้เหมือนคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่สามารถทำงานหนัก ๆ เช่น การใช้โปรแกรม Photoshop ได้ ทำได้เพียงเฉพาะงานที่ใช้พลังงานในการประมวลผลไม่มาก เช่น โปรแกรม Word, Powerpoint, Project Management และโปรแกรมอื่น ๆ ขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

การชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้นาน 2 ชั่วโมงครึ่ง ผู้พัฒนาคาดว่าผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะวางจำหน่ายในปี 2023 ในอินเดียและสหรัฐฯ จะมีน้ำหนักไม่เกิน 90 กรัม และมีหน้าตาที่ดีกว่าตัวต้นต้นแบบ เพื่อให้เหมาะที่จะพกพาไปใช้งานได้ทุกที่

ที่มาข้อมูลและภาพ: nimoplanet, wired, robbreport
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง