ชม “พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร” ยามค่ำ ห้ามพลาด 10 โบราณวัตถุ

ไลฟ์สไตล์
19 เม.ย. 65
17:07
2,608
Logo Thai PBS
ชม “พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร” ยามค่ำ ห้ามพลาด 10 โบราณวัตถุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำ 20-24 เม.ย.นี้ พร้อมแนะห้ามพลาดชมโบราณวัตถุ 10 ชิ้น ทั้งพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พระหายโศก พระมหาพิชัยราชรถ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำ วันที่ 20-24 เม.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-20.30 น. สัมผัสความงดงามของโบราณสถาน (วังหน้า) และชมการจัดแสดงนิทรรศการภายในพระที่นั่งและอาคารจัดแสดงต่าง ๆ พร้อมแนะนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 10 รายการ ที่จัดแสดงอยู่ภายในพระที่นั่ง และอาคารต่างๆ ที่ผู้เข้าชมไม่ควรพลาด และต้องไปให้ถึงอาคารจัดแสดงนั้น ๆ

  • พระพุทธสิหิงค์ จัดแสดง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัย-ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 นับถือกันว่า เป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ทรงอานุภาพ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์กล่าวว่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวงและเมืองสำคัญแต่โบราณของไทยหลายแห่ง คือ นครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 อัญเชิญจากเมืองเชียงใหม่มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญออกไปให้ประชาชนสรงน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งภายหลังกรมศิลปากรได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อองค์จำลองสำหรับเทศกาลสงกรานต์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

 

  • พระคเณศ จัดแสดงห้อง ศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พระคเณศ 4 กร จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 ความสูง 172 เซนติเมตร ลักษณะเป็นประติมากรรมจำหลักศิลานูนสูง ประทับนั่งบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ หัตถ์ขวาบนถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ หัตถ์ขวาและหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงศิราภรณ์ประดับด้วยกะโหลกมนุษย์ แม้แต่กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท และภูษาทรงล้วนประดับด้วยลวดลายกะโหลกมนุษย์ และสวมสายยัชโญปวีตรูปงู ตามประวัติกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเกาะชวาซึ่งเป็นชาวฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ.2439 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท

 

  • พระปัทมปาณีโพธิสัตว์ จัดแสดงห้อง ศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พระปัทมปาณีโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 กร ศิลปะศรีวิชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 พบเพียงท่อนบนพระวรกาย พบที่วัดเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ลักษณะเอียงพระวรกาย ทรงศิราภรณ์ ส่วนยอดของชฎามกุฎหักหายไป พระเนตรเหลือบต่ำ สวมสร้อยประคำและกรองศอ พระอังสาด้านซ้ายคล้องผ้าเฉวียงบ่า และทับด้วยสายยัชโญปวีตประดับหัวกวาง สันนิษฐานว่า อาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณี ที่กล่าวถึงในจารึกจากวัดเวียงว่า ถึงพระเจ้าธรรมเสตะสร้างปราสาทอิฐสามหลังเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์สององค์ ซึ่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้มีผู้นับถืออย่างมากทั้งในพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ซึ่งเคารพนับถืออยู่ในชวาภาคกลางในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้กับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง

 

  • ตะเกียงโรมัน จัดแสดงห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท ตะเกียงโรมัน ขุดพบที่ ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ราชบัณฑิตยสภาได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.2470 ลักษณะตะเกียงหล่อด้วยสำริด ปลายด้ามมีช่องสำหรับวางไส้ตะเกียง ด้านบนมีฝาเปิดหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าไซเลนุส (Silenus) ผู้เป็นอาจารย์ของเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นของโรมัน ด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์มและปลาโลมาคู่หันหน้าเข้าหากัน ตะเกียงนี้อาจหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าทางทะเลในประเทศอียิปต์ เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 หรืออาจหล่อขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 และคงเป็นของที่พ่อค้าชาวอินเดียได้นำเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณที่พบนั้น ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบเหรียญโรมันสำริดของจักรพรรดิวิคโตรินุสที่เมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าชุมชนโบราณในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก ได้แก่ กลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือ กรีก-โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-9ซึ่งอาจเป็นการติดต่อโดยตรงกับพ่อค้าโรมันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามบ้านเมืองท่าชายฝั่งของอินเดีย หรือติดต่อผ่านพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองท่าต่าง ๆ ก็เป็นได้

 

  • พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา จัดแสดงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาขาว” ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-14 พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปที่นำมาประกอบจาก 5 ส่วน คือ พระเศียรและบั้นพระองค์ได้มาจากวัดพระยากง ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนพระอุระ พระเพลา และพระบาท ได้จากวัดพระเมรุ อ.เมือง จ.นครปฐม โดยช่างในอดีตใช้เทคนิคในการเข้าสลักลิ่มเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้ง 5 เข้าด้วยกัน เมื่อ พ.ศ.2506 อาจารย์เศวต เทศน์ธรรม ผู้ซ่อมแซมพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง 3 องค์ คือ ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ได้ใช้ปูนซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ในการซ่อมองค์พระ และใช้แท่งสแตนเลสเป็นแกนเพื่อยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสามองค์ไม่พบชิ้นส่วนพระหัตถ์เลย ผู้ซ่อมแซมจึงใช้รูปแบบปางแสดงธรรมจากพระพุทธรูปนั่งขนาดเล็กในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นต้นแบบในการซ่อมแซม

 

  • พระหายโศก จัดแสดงห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาทไขว้กันแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง เป็นท่านั่งที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “มารผจญ” เป็นกิริยาที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกแม่พระธรณีมาเป็นพยานการบำเพ็ญพระบารมี ส่วนฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยบัวหงายมีขนาดใหญ่กว่าบัวคว่ำและปลายกลีบดอกบัวมีความอ่อนช้อย กลีบบัวมีการตกแต่งด้วยลายพฤกษา และลายช่อดอกโบตั๋น จากพุทธลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ 1 กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอน ด้านหลังที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน ๑ ๑๑+ ๕ ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศก ศักราช 1218” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2339 ในรัชกาลที่ 4 นาม “หายโศก”สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่า เคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมนั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวง และใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันนี้ จัดแสดงอยู่ที่ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

 

  • ศิลาจารึกหลักที่ 1 จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือเมื่อประมาณ พ.ศ.2376 ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและพระแท่นมนังคศิลาบาตร ที่เนินปราสาทเก่าสุโขทัย และทรงอ่านจารึกได้เป็นพระองค์แรก เนื้อหาในศิลาจารึกแบ่งออกเป็นสามตอน คือ ตอนที่ 1 ตั้งแต่บรรทัดที่ 1-18 เล่าประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติใช้คำว่า “กู” เป็นหลัก ส่วนตอนที่ 2 เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เล่าถึงการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยเมื่อ พ.ศ.1826 การสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อ พ.ศ.1828 และสร้างพระแท่นมนังคศิลาเมื่อ พ.ศ.1835 โดยใช้คำว่า “พ่อขุนรามคำแหง” แทนคำว่า “กู” และจารึกตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นคำสรรเสริญพระเกียรติคุณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไป สันนิษฐานว่า เป็นการจารึกภายหลังหลายปี เนื่องจากตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 จารึกหลักนี้กำหนดอายุตามปีศักราชที่ระบุไว้ คือ พ.ศ.1835 และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2546 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) องค์การยูเนสโก

 

  • พระอิศวร จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พระอิศวรสำริด สมัยสุโขทัย อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ลักษณะตามประวัติกล่าวว่ารับมาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าคือ พระมเหศวร ที่กล่าวถึงในจารึกวัดป่ามะม่วงว่า พระมหาธรรมราชาธิราช ที่ 1 (พญาลิไท) โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน คู่กับพระวิษณุอีกองค์หนึ่ง เมื่อปีฉลู มหาศักราช 1271 ตรงกับปีพุทธศักราช 1893

 

  • พระมหาพิชัยราชรถ จัดแสดงที่โรงราชรถ พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2338 มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ความยาวรวมงอนรถ 18 เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร น้ำหนักรวม 13.70 ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 216 นาย เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง นับแต่นั้น พระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ษานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อ ๆ มา และใน พ.ศ.2560 ใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันพระมหาพิชัยราชรถได้เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

  • พระที่นั่งบุษบกเกริน จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิสราวินิจฉัย พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือบุษบกราชบัลลังก์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระทวารกลางของพระที่นั่งมุขกระสัน ด้านทิศตะวันออกของหมู่พระวิมาน เป็นพระที่นั่งไม้ทรงบุษบกขนาบด้วยเกรินทั้งซ้ายขวา ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปยักษ์ ครุฑ และเทพนม ปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใช้เสด็จออกรับขุนนางหรือออกว่าราชการ ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบเรียกว่า ท้องพระโรงหน้า ถัดจากพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นชาลาและมีอาคารทิมคดตั้งอยู่สามด้านเรียกว่า ทิมมหาวงศ์ สำหรับเป็นที่ประชุมเหล่านักปราชญ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อมาจากมุขกระสันและรื้อทิมมหาวงศ์ออก โดยมีพระที่นั่งบุษบกเกรินประดิษฐานเป็นประธานในอาคารหลังใหม่นามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

 

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยและยังเป็นสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะระดับชาติของไทย จึงเป็นแหล่งที่รวบรวมมรดกวัฒนธรรมของชาติไว้เป็นจำนวนมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง