การลากเส้นพรมแดนไทย-ลาว ปัญหาที่ยังค้างคาไม่รู้จบ

ต่างประเทศ
25 เม.ย. 65
09:01
4,742
Logo Thai PBS
การลากเส้นพรมแดนไทย-ลาว ปัญหาที่ยังค้างคาไม่รู้จบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การลากเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ และผ่านลุ่มน้ำ มักจะทิ้งปัญหาตามมาให้กับคนในชุมชน หนึ่งในปัญหาคือการอ้างกรรมสิทธิบริเวณลำน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นที่ที่เกาะกลางน้ำบนลุ่มน้ำโขง ระหว่างไทย และลาว จนนำไปสู่ข้อพิพาทระดับประเทศ
เราต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้มีพื้นที่แบ่งปันอาณาเขต ฝรั่งเศสกับเกรทบริเตน ฝรั่งเศสกับอังกฤษ แต่ใช้สยามเป็นกันชน ปักปันดินแดน

เสียงปืนใหญ่จากการปะทะบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ส่งผลให้สยาม สูญเสียกรรมสิทธิ์ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะต่าง ๆ ยังคงถูกย้ำเตือนผ่านปรากฏในหนังสือแบบเรียนและภาพยนตร์ของไทย

เส้นเขตแดนของไทยในลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ข้อความแบ่งเขตแดนปรากฎชัดใน “อนุสัญญาระหว่างสยามและฝรั่งเศส เพื่อวางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างสยามกับอินโดจีน ปี 2469” ให้ถือร่องน้ำลึกของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน

จากเอกสารของกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ธรรมชาติของลำน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากร่องน้ำลึกเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดกรณีพิพาทในเรื่องเขตแดนได้

ในบางกรณีที่เกิดสันดอนทรายขึ้นใหม่ ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการแย่งกรรมสิทธิ์เกาะกลางน้ำที่เกิดขึ้นใหม่และนำไปสู่ ข้อพิพาทด้านเขตแดนได้เช่นกัน อย่างที่เกาะแห่งนี้ บริเวณหมู่บ้านสบกก จ.เชียงราย

ชาวบ้านเล่าว่า เกาะทางด้านซ้ายเคยเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เกาะดอนนี้ถูกเปลี่ยนผ่านไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของคนลาว ท่ามกลางความสงสัยของชาวบ้าน

สมเดช สิงห์ทอง ชาวบ้านหมู่บ้านสบกก เล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เคยมีเกาะดอนขนาด 76 ไร่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง เกาะนั้นเป็นพื้นที่ทำไร่ข้าวโพด เพื่อหาเลี้ยงชีพ

 

ในปี 2551 หน่วยงานของรัฐไทยเข้าไปศึกษาพื้นที่ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือและสร้างตลิ่ง ส่งผลให้ร่องน้ำลึกเกิดการเคลื่อนย้ายจนเกาะล้ม เกาะแห่งใหม่เกิดขึ้นใกล้หมู่บ้านสบกก แต่ถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลากว่าสิบปี ชาวบ้านจากฝั่งลาวที่เดิมเลี้ยงสัตว์อยู่ในเกาะของฝั่งลาว เริ่มขึ้นมาใช้พื้นที่เกาะแห่งนี้

สมเดช เล่าต่อว่า เมื่อก่อนนี้เขาก็เอาแพะเอาวัวมาปล่อยให้กินหญ้า เมื่อก่อนเกาะของเขาอยู่ฝั่งหนึ่ง แต่ตอนนี้เขาข้ามมาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ทางเราก็ไม่พูดอะไร ก็เลยเอามาเลี้ยง ตอนนี้ลามมาอีกแล้ว มาทำไร่ทำสวนอีกแล้ว

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย นักวิชาการอิสระ / นักเขียน กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเจรจากัน ฝ่ายไทยก็มีแนวโน้มอยากจะให้ช่วยแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่สยามลงนามกับฝรั่งเศสไว้ในยุคนั้นให้เป็นธรรมมากขึ้น แต่ฝ่ายลาวก็จะมีท่าทีที่อยากให้ยึดตามสนธิสัญญาเดิม

การเจรจาในแม่น้ำโขงจึงยังไม่ได้คืบหน้ามาก และมีความละเอียดอ่อนสูงมาก เพราะผูกพันกับแนวคิดการเสียดินแดนของทั้งชาติไทยและชาติลาว การเจรจาเขตแดนจึงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ทั้งไทยและลาวไม่ยอมกัน ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา

 

เสียงปืนยิงปะทะกันระหว่างทหารไทยและลาว เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2530 เมื่อทหารไทยชักธงไทยขึ้นในพื้นที่บ้านร่มเกล้า ตรงชายแดนไทยและลาว ที่มีข้อพิพาทยืดเยื้อมาจากสนธิสัญญาอินโดจีนปี 2469 จนนำมาซึ่งการต่อสู้อย่างรุนแรง

แต่ในที่สุดรัฐบาลไทยและลาว ตัดสินใจยุติความขัดแย้งด้วยการหยุดยิง รัฐบาลไทยและลาว จึงร่วมกันแก้ไขปัญหาเขตแดนผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว เวลาล่วงเลยมานานกว่า 30 ปี การเจรจาของทั้งสองประเทศยังคงไม่ลงตัว

อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ จึงการจัดทำคู่มือและการอบรมสำหรับผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่ออธิบายวิธีการรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ฐนพงศ์ กล่าวว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาก็คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านว่า เกาะดอนนี้ ฝ่ายไทยมีท่าทีอย่างไร หรือถ้ามีในสนธิสัญญา ว่าเป็นของไทยแน่ ๆ ก็สนับสนุนให้ขึ้นไป แล้วเจ้าหน้าที่จะกล้า take action

ถ้าเป็นเกาะดอนที่เป็นของลาวหรืออยู่ในระหว่างการเจรจาทางการต่างประเทศ เขาก็พยายามลดความขัดแย้งกันคือ จะพยายามไม่ให้ขึ้นไปกันทั้งสองฝ่าย

สมเดช กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนผมไปกับผู้ใหญ่บ้าน ไปวิ่งไปหาเจ้าหน้าที่ทางอำเภอก็เงียบไป ไม่เห็นเขาพูดอะไร แต่อยากจะขอให้ดูแลหน่อยว่า เกาะนี้ชื่อของมันคือเกาะช้างตาย เมื่อก่อนนี้เป็นของคนไทย คนบ้านเรา บ้านสบกก บอกว่าเป็นเกาะของเรา แต่ตอนหลังพวกลาวก็บอกว่าเป็นของลาว แล้วก็อยากจะให้ทางราชการมาดูแลหน่อย

แนวคิดแบบรัฐชาติสมัยใหม่ตีเส้นแผ่นดินผ่านปลายปากกา เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกเป็นสัดส่วน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาคือภาพของชาวบ้านทั้งฝั่งไทยและลาวที่พายเรือข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันอย่างคุ้นเคย เพื่อแสดงให้เห็นว่ามิตรภาพและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศยังคงเชื่อมต่อกันอยู่ดังเดิม

กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง