ถึงคิวปลาหายาก-น้ำมันแพง จ่อปรับราคา "ลูกชิ้นปลา"

เศรษฐกิจ
27 เม.ย. 65
13:11
2,340
Logo Thai PBS
ถึงคิวปลาหายาก-น้ำมันแพง จ่อปรับราคา "ลูกชิ้นปลา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ค้าปลาทะเล ตลาดสดย่านสะพานใหม่ ชี้ปลาที่ใช้ผลิตลูกชิ้นปลามีขนาดเล็กลงแพงขึ้น หลังราคานำ้มันแพงกระทบชาวประมงออกเรือหาปลา ส่งผลร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาชื่อดัง ประกาศปิดสาขาชั่วคราว หลังแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น 100% ไม่ไหว

ผลกระทบกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อการออกหาปลาของชาวประมง แต่ยังกระทบต่อห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจอื่นๆตามมาจากต้นทุนที่แพงขึ้นด้วย 

วันนี้ (27 เม.ย.2565) ไทยพีบีเอส สำรวจตลาดสดยิ่งเจริญ หลังจากร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาชื่อดัง ประกาศปิดให้บริการบางสาขาชั่วคราว หลังแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 100% ไม่ไหว เจ้าของร้านระบุว่าไม่เคยเจอสถานการณ์ราคาปลาผันผวนแบบนี้ ก่อนเตรียมประกาศปิดบริการชั่วคราว จำนวน 3 สาขา จาก 11 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

นายพลยุทธ เอื้อมสราญวรกุล เจ้าของร้านเจ๊ไนซ์ลูกชิ้นปลาเยาวราช ในตลาดยิ่งเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา ส่งสัญญาณจะปรับราคาลูกชิ้นอีกครั้ง จากเดิมที่มีการปรับราคาไปแล้ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ปกติราคาลูกชิ้นปลามักมีการเคลื่อนไหวราคามากนัก แต่ปีนี้กลับมีการปรับราคาหลายครั้งเกือบ 100% ทำให้เตรียมปรับขึ้นราคาขายปลีกลูกชิ้นปลากลม จากกก.ละ 130 บาท เป็น 135 บาท และเกี๊ยวเนื้อปลาจาก กก.ละ 70 บาท เป็น 120-130 บาท

 

เจ้าของร้านลูกชิ้นปลา ระบุว่า ราคาลูกชิ้นปลาที่แพงขึ้น กระทบยอดซื้อลดลง และร้านอาหารรายย่อยบางส่วน หันไปใช้ลูกชิ้นปลาผสมแป้ง แต่บางส่วนยังคงใช้ลูกชิ้นปลาแท้ เพื่อรักษาคุณภาพรสชาติอาหาร แต่อาจลดปริมาณหรือเพิ่มราคาขาย

ผู้ค้าลูกชิ้นในตลาดสดคนนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง อาจผลิตลูกชิ้นปลาเอง ทำให้แบกภาระต้นทุนสู้โรงงานรายใหญ่ไม่ได้ จึงต้องปิดชั่วคราว เพื่อหาวัตถุดิบจากโรงงาน ที่เหมาะสมกับร้าน

 

ขณะที่นางพิกุล สงวนใจ ผู้ค้าแผงปลาทะเล ในตลาดสดยิ่งเจริญ บอกว่า ร้านไม่ได้ขายปลาข้างเหลือง ซึ่งใช้ผลิตลูกชิ้นปลา มานานหลายเดือน และเพิ่งมีขาย เมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) แต่ขนาดปลา เล็กลงมาก

เช่นเดียวกับ ปลาน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นปลาอีกชนิด ที่ใช้ผลิตลูกชิ้น ซึ่งยังพอมีขาย แต่ราคาแพงขึ้นมาก จากเดิม กิโลกรัมละ 80 บาท เป็น 100-130 บาท คาดว่า จะเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณปลาที่ลดลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง