4 แหล่งพลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้พลังงานน้ำมัน

Logo Thai PBS
4 แหล่งพลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้พลังงานน้ำมัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการมองหาพลังงานหมุนเวียน และหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากการผลิตด้วยน้ำมันมากขึ้น

การมองหาพลังงานทางเลือกที่จะนำมาทดแทนการใช้พลังงานน้ำมัน มีอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีการพูดถึงแหล่งพลังงานทางเลือกมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน และนอกจากนี้ แหล่งพลังงานทางเลือกยังเป็นเทรนด์พลังงานสะอาดที่ทั่วโลกให้ความสนใจ มาดูกันว่าพลังงานที่สามารถทดแทนการใช้น้ำมันนั้นมีอะไรบ้าง

พลังงานแสงอาทิตย์


แสงอาทิตย์ ถูกนำมาเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยอาศัยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิต ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ การผลิตพลังงานแบบรวมแสง ด้วยการใช้กังหันไอน้ำ และการผลิตแบบโฟโตโวลตาอิก (Photovoltaic) ซึ่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรง โดยอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้และผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีรูปแบบ เช่น แบตเตอรี่สำรอง หลอดไฟ รถพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น จากเดิมที่มีเพียงการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เกิดช่องทางในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีมากขึ้น

พลังงานลม


ลม เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มีอยู่ในธรรมชาติ และสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยมีกังหันลมขนาดใหญ่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตพลังงาน มีทั้งที่เป็นแกนหมุนแนวตั้งและแกนหมุนแนวนอน ซึ่งช่วยเปลี่ยนการเคลื่อนที่ของลม (พลังงานจลน์) ให้เป็นพลังงาน แต่ขีดจำกัดของการผลิตพลังจากลมอยู่ที่ความเร็วของลม โดยต้องมีความเร็วลมที่สม่ำเสมอ จึงต้องเลือกทำเลที่เหมาะสม เพื่อให้ได้พลังงานจากลมที่สามารถนำมาใช้งานได้

พลังงานน้ำ


น้ำ เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนสถานะเป็นกระแสไฟฟ้า ได้ด้วยการเก็บกักน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต้ำไว้ในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แล้วนำไปผ่านขั้นตอนการผลิตด้วยเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้า ในประเทศไทย ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำตามลักษณะการบังคับน้ำ แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ก็มีข้อเสียตามมาคือการต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง และอาจทำลายสภาพแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน

พลังงานชีวภาพ


พลังงานชีวภาพ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากการย่อยสลายของวัตถุทางชีวภาพ จนกลายเป็นก๊าซชีวภาพที่สามารถนำมาเป็นพลังงานได้ สามารถแบ่งออกเป็น พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและความร้อน และพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตก๊าซหุงต้มและรถยนต์ ซึ่งนำมาใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์ต่าง ๆ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง 

ที่มาข้อมูลและภาพ: datadriveninvestor, bloomberg, nationalgeographic, euractiv
ที่มาข้อมูลและภาพ: Freepik
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง