สปสช.ตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิด ป้องกันภาวะปัญญาอ่อน

สังคม
2 พ.ค. 65
14:14
206
Logo Thai PBS
สปสช.ตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิด ป้องกันภาวะปัญญาอ่อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สปสช.จัดสิทธิประโยชน์คัดกรอง “พร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด” และ “โรคพีเคยู” เพื่อเด็กแรกเกิดทุกคนทุกสิทธิ ป้องกันภาวะพิการทางสมองและปัญญาอ่อน

วันนี้ (2 เม.ย.2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism) และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ที่เรียกว่า โรคพีเคยู หรือฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ในเด็กแรกเกิด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการทางสมองและภาวะปัญญาอ่อนตามมาได้

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายการสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงกำหนดให้มีบริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดและโรคพีเคยูสำหรับเด็กไทยแรกเกิดทุกคน ซึ่งหน่วยบริการจะทำการเจาะเลือดเด็กแรกเกิดที่มีอายุตั้งแต่ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ที่บริเวณส้นเท้าหรือหลังมือใส่กระดาษซับและจัดส่งให้หน่วยบริการที่ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจ หากผลตรวจคัดกรองผิดปกติ หน่วยบริการที่ตรวจจะแจ้งรายชื่อเด็กโดยด่วนไปยังหน่วยบริการที่เจาะเลือดเพื่อการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กที่มีผลการคัดกรองผิดปกติได้รับบริการอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ในปีงบประมาณ 2565 สปสช.สนับสนุนให้มีค่าใช้จ่ายเป็นการเฉพาะสำหรับการตรวจและติดตามเพื่อตรวจยืนยันในรายที่ผิดปกติ โดยกรณีเด็กที่มีผลการคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดผิดปกติ จะได้รับการติดตามและตรวจยืนยันภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ พร้อมได้รับยาไทร็อกซิน (Thyroxine) ภายในอายุไม่เกิน 14 วัน และกรณีเด็กที่มีผลการคัดกรองโรคพีเคยูผิดปกติ จะได้รับการติดตามและส่งต่อให้เข้าสู่ระบบบริการดูแลกลุ่มโรคหายากภายในอายุไม่เกิน 14 วัน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การให้บริการ คือ เด็กแรกเกิดที่คลอดครบกำหนด และน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัมทุกสิทธิ จะได้รับการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ส่วนเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือเด็กคลอดครบกำหนดที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือทารกแฝด หรือทารกป่วยทุกสิทธิ จะได้รับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด 2 ครั้ง เป็นการตรวจเมื่อแรกเกิด 1 ครั้ง และจะตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดและโรคพีเคยูนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนได้กำหนดให้เป็นหนึ่งใน 9 รายการ บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้เบิกจ่ายตามรายการบริการที่กำหนดราคา หรือ Fee schedule โดยกำหนดอัตราค่าบริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดและโรคพีเคยู 135 บาท/ครั้ง และค่าบริการตรวจและการติดตามเพื่อยืนยันในรายภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกติ 350 บาท/คน เพื่อให้เด็กแรกเกิดเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดและโรคพีเคยู เป็นโรคที่ต้องให้บริการคัดกรองโดยเร็ว นำไปสู่การป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้เด็กเกิดภาวะพิการทางสมองและปัญญาอ่อนตามมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง