อินเดียเผชิญหายนะ "คลื่นความร้อน" ซ้ำเติมปัญหาประเทศ

ต่างประเทศ
2 พ.ค. 65
14:39
1,059
Logo Thai PBS
อินเดียเผชิญหายนะ "คลื่นความร้อน" ซ้ำเติมปัญหาประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อินเดีย" อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่าปกติหลายองศาเซลเซียส ถือเป็นวิกฤตความร้อนที่ซ้ำเติมประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้าหลายด้าน

ฤดูร้อนในประเทศอินเดีย ตามปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. ซึ่งช่วงที่อากาศร้อนที่สุดมักจะเป็นเดือน พ.ค.-มิ.ย. แต่ในปี 2565 ในเดือน มี.ค.-เม.ย. สภาพอากาศร้อนทำลายสถิติ เป็นเดือน มี.ค.และ เม.ย.ที่ร้อนที่สุดในรอบ 122 ปี

อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้อยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน มี.ค.อยู่ที่ 33.10 องศาเซลเซียส ส่วนเดือน เม.ย.อยู่ที่ 37.78 องศาเซลเซียส ส่วนเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ คือ รัฐอุตตรประเทศอยู่ที่ 47.2 องศาเซลเซียส แทบไม่แตกต่างจากวันก่อนหน้า

สภาพอากาศร้อนจัดที่มาเร็วกว่าปกติและร้อนกว่าปกติ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล แม้แต่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) ยังออกมาเตือนในเรื่องนี้

รายงานของนาซาที่เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทางภาคตะวันออก ภาคกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย สูงกว่าปกติ 4.5-8.5 องศาเซลเซียส สาเหตุเกิดจากกระแสลมกรดและโดมความกดอากาศสูงที่กักเก็บความร้อนไว้เกือบทั่วประเทศ และคาดว่าสภาพอากาศจะร้อนต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์

ทั้งนี้ ตามปกติแล้วสภาพอากาศร้อนในอินเดียจะเริ่มคลี่คลายในช่วงเดือน มิ.ย. เพราะเข้าสู่ฤดูมรสุม แต่เนื่องจากปีนี้ความร้อนมาเร็วกว่าปกติ เท่ากับว่าต้องรออีกประมาณ 1 เดือนกว่าอากาศจะเย็นลง

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมามีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสาธารณสุข เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคลมแดดเพิ่มขึ้น ถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลที่ยังต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ซึ่งในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา อากาศร้อนจัดทำให้มีผู้เสียชีวิตในอินเดียมากกว่า 6,500 คน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่ปศุสัตว์จะล้มตาย เพราะทนความร้อนไม่ไหว รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรจะน้อยลงตามไปด้วย ผลกระทบอีกเรื่องที่จะตามมาคือ ภัยธรรมชาติ ที่เกิดจากธารน้ำแข็งละลายเร็วผิดปกติ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เนื่องจากหน่วยงานด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ เตือนว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์จะทำให้โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่กว่าปกติ

ที่มา : BBC

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง