บทวิเคราะห์ : “อีสท์วอเตอร์” แค่เรื่องเจรจาต่อรอง?

การเมือง
2 พ.ค. 65
17:42
717
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “อีสท์วอเตอร์” แค่เรื่องเจรจาต่อรอง?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การเปลี่ยนวงกินอาหารของกลุ่มพรรคเล็ก จากวันแรกกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น ตัวแทนรัฐบาลและจากพรรคพลังประชารัฐ ต่อด้วยวันที่ 2 กับพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้กลายเป็นการจุดประเด็นซักฟอกรัฐบาล เรื่องโครงการท่อส่งน้ำและบริหารจัดการในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท

นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ที่อ้างตัวเป็นหัวหน้า “กลุ่ม 16” และแกนนำพรรคเล็ก แม้ว่าได้ยุบพรรคประชาธรรมไทย เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐไปแล้วก่อนหน้านี้ ระบุว่า

โครงการนี้มีความไม่โปร่งใส เกิดการตุกติก และแก้ไข TOR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง และเอาชนะ อีสท์วอเตอร์ หรือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ในการประมูลครั้งที่ 2

นายพิเชษฐ์ซึ่งยอมรับว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทอีสท์วอเตอร์ และเคยเป็นประธานกรรมการบริษัท กล่าวว่า ตนรับไม่ได้ที่ บริษัท อีสท์วอเตอร์ แพ้การประมูลครั้งนี้ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ และบริษัท อีสท์วอเตอร์ เป็นบริษัทลูกของการประปาส่วนภูมิภาค หรือกปภ. ตั้งขึ้นมาเพื่อจะบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรน้ำในโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดทั้งหมด

“หากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังสนับสนุนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบ ผมจะยอมให้ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากไม่ทบทวนเรื่องนี้ จะถูกยกมือไม่ไว้วางใจ และอาจถูกกล่าวหาว่ารับสินบนด้วย” นายพิเชษฐ์กล่าว

เท่ากับประกาศจุดยืนหนุน และให้ข้อมูลเรื่องการประมูลโครงการนี้แก่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ เพื่อหวังล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะเสี่ยงโดนถูกขับออกจากพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เคยนำเรื่องนี้ไปตั้งโต๊ะแถลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และประกาศจะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะล้มรัฐบาลในศึกซักฟอกตามมาตรา 151 ซึ่งจะมีการลงมติโหวตเสียงของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

แม้จะมีคำถามย้อนกลับ เหตุเพราะบริษัท อีสท์วอเตอร์ ไม่ชนะการประมูลใช่หรือไม่ เพราะการเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเคยเป็นประธานกรรมการบริษัท ย่อมมีความเชื่อมโยงไม่มากก็น้อย จะเข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยหรือไม่ ก็ตามที

เพราะหากย้อนกลับไปฟังผลของการยื่นขอรับการคุ้มครองจากศาลปกครอง ได้มีคำวินิจฉัย “ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผล การเปิดประมูลใหม่ไม่ได้ปิดกั้นสิทธิ์ บริษัท อีสท์วอเตอร์ แต่อย่างใด สามารถยื่นขอประมูลใหม่ได้เช่นเดิม และหากเห็นว่ามีความไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดความเสียหายตามมา ก็สามารถยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

เท่ากับยังไม่มีข้อมูลใดเป็นไปตามข้อกล่าวหา เมื่อครั้งยื่นเรื่องขอรับการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ซึ่งจะทำให้น้ำหนักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องนี้เบาบางลง เว้นแต่จะสามารถหาเหตุผลหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจน ไปใช้ในการซักฟอกกระทั่งฝ่ายรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งนายพิเชษฐ์ น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามที่กล่าวอ้างไว้ ก็จะเป็นศึกซักฟอกการบริหารงานครั้งสำคัญของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะผู้ดูแลกำกับกรมธนารักษ์ และที่ผ่านมา เคยให้สัมภาษณ์หรือสื่อสารกับสื่อมวลชนน้อยมาก แม้กระทั่งในสนามเลือกตั้ง จ.เพชรบูรณ์ ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของนายสันติและส.ส.ในกลุ่ม ซึ่งเหมายกปักธงส.ส.ได้ทั้งจังหวัด

แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะการมีจุดยืนที่พลิกไปกลับมาของบางพรรคบางกลุ่ม ก็มีโอกาสไม่น้อยเช่นกันที่จะเป็นความเคลื่อนไหว โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือการเจรจาหรือประสานประโยชน์ให้ลงตัวระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มพรรคที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยมีเป้าหมายงดเว้นหรือไม่มีการซักฟอกในประเด็นนี้ หรือซักฟอกแล้ว ไม่มีน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะเขย่ารัฐบาลได้เหมือนอย่างที่มีการโหมกระพือจุดกระแส

นายพิเชษฐ์ในฐานะแกนนำกลุ่มพรรคเล็ก ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าเอาจริง ไม่มี “มวยล้ม” แน่นอน

แต่ในทางการเมือง อะไรๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ยิ่งในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงช่วงปลายๆ ของการทำหน้าที่ของส.ส.ด้วย ยิ่งจะมีปัจจัยอื่นสำคัญกว่า เพราะบางพรรคบางคนที่เป็น ส.ส.ปัจจุบัน ย่อมไม่มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าภายใต้กติกาเลือกตั้งใหม่ จะฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหา กลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้อีกหรือไม่

ไม่แน่นัก อะไรที่ใกล้มือหรือพอจะหาได้ ก็ต้องรีบคว้าเอาไว้ก่อน เมื่อยังอยู่ในสถานะที่ต่อรองเจรจาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง