แนะเฝ้าระวัง "ภาวะมิสซี" ในเด็กอายุ 8-10ปี หลังป่วยโควิด

สังคม
4 พ.ค. 65
15:43
4,984
Logo Thai PBS
แนะเฝ้าระวัง "ภาวะมิสซี" ในเด็กอายุ 8-10ปี หลังป่วยโควิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แนะผู้ปกครองที่มีเด็กอายุ 8-10 ปีที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เฝ้าระวังภาวะมิสซี กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นหลังหายจากโควิด พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง มีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง อาเจียน มีไข้ ผื่น เป็นต้น

วันนี้ (4 พ.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะมิสซี ซึ่งย่อมาจาก MIS-C = multisystem inflammatory syndrome in children คือ กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก ภายหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า ลูกหลานบ้านไหนเคยติดเชื้อโควิด-19 ควรศึกษาข้อมูลภาวะมิสซีไว้

สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ ได้แก่

1.เด็กอายุ 0 ถึงผู้ใหญ่ 21 ปี เคยติดเชื้อโควิด

2.หลังหายแล้วประมาณ 2-6 สัปดาห์ หรืออยู่ในระหว่าง 10 วันที่กักตัว กลับมามีอาการไข้สูงใหม่ ไข้เกิน 24 ชม.

3. มีอาการที่บ่งว่ามีการอักเสบของอวัยวะ 2 ข้อขึ้นไปคือ พบบ่อยสุดคือ ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาเจียน ลำดับถัดมาที่พบคือ ตาแดงทั้ง 2 ข้าง, ผื่นแดง ขึ้นทั้งตัว, มือ เท้า บวมแดง, ลิ้นแดงคล้ายผิวสตรอว์เบอร์รี ริมฝีปากแดง อาการที่พบบ่อย อาการไม่รุนแรง แต่จะมีไข้สูงลอย ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบน้อยแต่มีอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิต ได้แก่ ระบบประสาท ชัก หมดสติ ช้อก ตับวาย ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

4. ผลเลือดบ่งว่า มีการอักเสบ เบื้องต้น ESR CRP proBNP TropI สูง อื่น ๆ d-dimer procalcitonin trigleceride PT PTT INR lactate

5. ทุกเคสที่นึกถึง MIS-C ต้องนึกถึงโรคอื่น ๆ ด้วย และให้การรักษาไปด้วย ได้แก่ ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ควรส่งตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียในเลือด และให้ยาปฏิชีวนะทุกรายที่สงสัยมิสซี

6. การรักษามิส-ซี ให้ยาต้านภูมิคุ้มกัน IVIG สเตียรอยด์ methylprednisolone และยาต้านเกล็ดเลือด ASA

7. การป้องกันไม่ให้เกิดมิสซี ดีสุดคือ ป้องกันติดเชื้อโควิด และรับวัคซีนโควิด

8. วัคซีนเสริมอื่น ๆ ที่ควรได้รับคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่และอื่น ๆ สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม ไอพีดี (ไม่ฟรี มีค่าใช้จ่าย) เนื่องจากลดการติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกับมิสซี และได้ลดการมีไข้จากเชื้อที่ป้องกันได้

ทั้งนี้ ใกล้เปิดเทอมแล้ว เยาวชนควรได้รับวัคซีนดังนี้ วัคซีนโควิดเมื่ออายุ >5 ปี - วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุ >6 เดือนขึ้นไป (วัคซีนเสริม) และวัคซีนพื้นฐานตามช่วงวัย ให้ครบ -วัคซีนเสริมอีกชนิดคือ ไอพีดีป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (ไม่ฟรี) ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคปอด เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี

ภาพ : เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว

ภาพ : เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว

ภาพ : เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว

ภาวะมิสซี พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กลุ่มอาการ MIS-C (มิสซี) เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย.2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี

ภาวะนี้ มีอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะนี้จำนวน 15 คน ซึ่งยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องติดตามการรักษาต่อเนื่องโดยพบว่าร้อยละ 7-14 ยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ

ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีโครงการตรวจติดตามผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นระยะ ๆ เพื่อเฝ้าระวังภาวะ Long COVID จากการติดตามในทุกระบบของร่างกาย ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และสถาบันฯ ยังคงติดตามดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง