เตือน! แพ้ยาง "ต้นไชยา" ถึงขั้นปากเจ่อ

สังคม
5 พ.ค. 65
11:58
5,858
Logo Thai PBS
เตือน!  แพ้ยาง "ต้นไชยา" ถึงขั้นปากเจ่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอแล็บแพนด้า" เตือนคนแพ้ยางต้นคะน้าเม็กซิโก หรือต้นไชยา อาจมีอาการระคายเคืองผิว หลังพบวัยรุ่นนำต้นไปเล่นเป่าแซกโซโฟน แค่ 5 นาทีถึงขั้นปากเจ่อ เภสัชฯ มหิดล ระบุมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็มีความเสี่ยงของคนแพ้พืชในวงศ์ยางพารา

วันนี้ (5 พ.ค.2565) เพจเฟซบุ๊กหมอแล็บแพนด้า ของนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง โพสต์เตือนว่ากรณีหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งมีอาการปากบวม เพราะแพ้ต้นไชยา หรือคะน้าเม็กซิโก 

หมอแล็บแพนด้า ระบุว่า น้องคนนึงไปตัดเอาต้นของผักไชยา หรือคะน้าเม็กซิโก หรือผักผงชูรส เอาปากอมแล้วเป่าเล่นสนุกๆ ทำเป็นแซกโซโฟน แล้วเต้นไปด้วย น่ารักดี ผ่านไปแค่ 5 นาที ปากบวมเหมือนกับฉีดฟิลเลอร์

ภาพ: ข้าวเม่าเขียว โต๊ยโต๊ย

ภาพ: ข้าวเม่าเขียว โต๊ยโต๊ย

ภาพ: ข้าวเม่าเขียว โต๊ยโต๊ย

 

ผักชนิดนี้กินได้ ประโยชน์เยอะแต่ห้ามกินสดๆ เพราะใบและยอดมีสารพิษกลุ่มไฮโดรไซยานิก ไกลโคไซด์ (hydrocyanic glycosides) ทำให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคืองได้

ถ้าจะเอามากิน ต้องผ่านความร้อน 15-20 นาที เพื่อทำลายสารพิษคนที่ผิวแพ้ง่าย ต้องระวังยางของต้นไปสัมผัสผิว อาจระคายเคืองผิว

ขณะที่เจ้าของโพสต์ ข้าวเม่าเขียว โต๊ยโต๊ย ได้โพสต์คลิปหลังจากอมต้นไชยาแล้ว 2-3 ชั่วโมง โดยระบุว่า มีอาการปากเจ่อเหมือนกับดาราสาวแองโจลีนา และขอเตือนว่าทำตาม และอมต้นผงชูรสไปแล้วปากบวม

อันนี้คลิปหลังจากอมกิ่งผงชูรสไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง ปากข่อยโปจนสิไปอัดฮูดัง จะของเก็บไว้สอนลูกจนฮอดบวชพุ้นล่ะ

 

พบมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ-แต่คนแพ้ต้องระวัง

ข้อมูลจากภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผักไชยา ผักชายา ผักโขมต้น ต้นผงชูรสหรือต้นมะละกอกินใบ เป็นชื่อเรียกของพืชชนิดนี้ สารสำคัญที่พบในคะน้าเม็กซิโก เป็นสารในกลุ่ม flavonoids และ phenolic acids นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่ม saponins และ alkaloids ด้วย (8-9)

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าคะน้าเม็กซิโกมีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด และลดไขมันในเลือดแต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาในรูปแบบของสารสกัด และสารสำคัญที่แยกได้จากส่วนใบ เช่น สารในกลุ่ม flavonoids, alkaloids และยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

ขณะที่การศึกษาความเป็นพิษการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด CHCl3:MeOH (1:1) ของใบในหนูเม้าส์ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีขนาดมากกว่า 2 กรัมต่อกิโลกรัม และการให้สารสกัดในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม เป็นเวลานาน 28 วัน ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษกับสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดเข้าทางกระเพาะอาหาร และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบของอาหาร แต่สำหรับผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE (ยางพารา) ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการกินคะน้าเม็กซิโก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง