บทวิเคราะห์ : 30 ปี พฤษภาประชาธรรม

การเมือง
9 พ.ค. 65
20:02
2,168
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 30 ปี พฤษภาประชาธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผ่านไปแล้ว 30 ปี สำหรับเหตุการณ์นองเลือดจากการชุมนุมต่อต้านและขับไล่รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น (พ.ศ.2535) แต่ปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้เห็นต่าง และแสดงออกด้วยการชุมนุมประท้วง ยังไม่ได้ยุติ แต่ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อมาอีกหลายครั้ง

ทั้งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. ผู้ชุมนุม กปปส. และผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ แม้จะมีเสียงเรียกร้องหาความสมานฉันท์ ปรองดองคู่ขนานกันมาก็ตามที

เหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 เกิดจากชุมนุมคัดค้านคนนอก ที่ไม่ได้เป็นส.ส.และต้องการสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหารโดย รสช. ปี 2534 โดยพล.อ.สุจินดา อ้างยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เจ้าตัวเคยย้ำก่อนหน้านั้นว่า จะไม่เป็น (นายกฯ)

ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่นำไปสู่การกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ มาจากส.ส. เพื่อป้องกันการโดนแทรกแซงจากกองทัพ แต่พอถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ก็กลับไปเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้อีก โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. ในก๊อกที่ 2 เรียกว่า ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ

การออกแถลงการณ์ของที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ประณามการบิดเบือนเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภา 35 กรณีที่มีการเชิญพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมงานรำลึก 30 ปีเหตุการณ์พฤษภา วันที่ 17 พฤษภาคม 65

ก่อนจะต่อด้วยเครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ บอยคอต ไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 ผู้จัดงานรำลึก ต้องออกโรงชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นแค่ร่างกำหนดการภาษาอังกฤษที่ใช้ประสานงานติดต่อวิทยากรจากต่างประเทศเท่านั้น

ถือเป็นภาพสะท้อนแนวคิดที่ยังคงแตกต่างกัน ของกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่เคยมีกิจกรรมและเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังคงดำรงอยู่

ฝ่ายที่คัดค้าน เชิญชวนบอยคอต มองว่า พล.อ.ประวิตร เป็นส่วนหนึ่งในคณะ คสช.ที่รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และใช้มาตรการทั้งทางกฎหมาย และวิธีปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านคัดค้านแบบไม่เป็นธรรม

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งกระชับพื้นที่ กระทั่งนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายของผู้ชุมนุมเมื่อปี 53 นำไปสู่การฟ้องกลับของนายอภิสิทธิ์ (ต่อมา 31 ส.ค.60 ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 53)

ขณะที่ฝ่ายจัดงาน นำโดยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภาฯ 35 มองต่างมุมออกไป โดยแย้งว่า การจัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี จะมีการเชื้อเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งคู่ขัดแย้งในอดีต เข้าร่วมในงานมาตลอด

แต่ปีนี้มีเพิ่มเติม คือการอภิปรายช่วงภาคบ่าย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีเชิญผู้ร่วมงาน เข้าร่วมอภิปรายบทเวทีเสวนา เพื่อสรุปบทเรียนความขัดแย้งเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง

สะท้อนความเห็นที่ยังแตกต่างกัน แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 30 ปี ทั้งนี้ ขึ้นกับมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ปฏิเสธกันไม่ได้ คือยังปรากฏให้เห็นการใช้อำนาจ ใช้เจ้าหน้าที่และความรุนแรงกับผู้ชุมนุมต่อเนื่องมา

ทั้งการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตร ฝ่าย นปช. กปปส. แม้กระทั่งการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา เท่ากับมีส่วนตอกย้ำความรู้สึก โดยเฉพาะฝ่ายที่คิดว่าเป็นผู้ถูกกระทำ และไม่ได้รับความเป็นธรรม

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ครั้งแรกถูกเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” เพราะมีเหตุการณ์นองเลือด มีภาพความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น พร้อมกับการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ รวมถึงมีผู้ชุมนุมบางส่วนสูญหายจนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่ต่อมา จะถูกเรียกชื่อใหม่ว่า”พฤษภาประชาธรรม” เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่ได้รับการคลี่คลายถอดสลัก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเรียกคู่กรณีเข้าเฝ้า ก่อนที่พล.อ.สุจินดา จะลาออกจากนายกฯ ในเวลาต่อมา

เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าหนึ่งที่เยาวชนและอนุชนคนรุ่นใหม่ ควรศึกษาเรียนรู้ และร่วมถอดบทเรียน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์การเข่นฆ่ากันเอง ของคนไทยต้องซ้ำรอยเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง